[:TH]ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “แม่โถ” (ผักสลัด)[:]

[:TH]

       จากการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้แปร
พระราชฐานมาพักที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์หลายๆ ครั้ง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2506 เป็นต้นมาได้ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าบนที่สูงถูกทำลาย สภาพดินเสื่อมจากการปลูกพืชแบบโยกย้ายพื้นที่ทำกินไปเรื่อยๆ สร้างปัญหาให้แก่ป่า และระบบการไหลเวียนของน้ำ พื้นดิน ถูกกัดเซาะทำลาย รวมทั้งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

จึงทรงมีพระราชดำริเรื่องงานส่งเสริมและการพัฒนาต้นน้ำ รวมทั้งการดำรงชีวิตให้แก่ชาวเขาตามสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ ทรงจัดตั้งโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำขึ้นหลายหน่วย หมู่บ้านแม่โถ ตำบลบ่อสลีอำเภอฮอด นับเป็นหน่วยที่ 6 ตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 เพื่อเน้นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดการทำลายต้นน้ำ ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำและระบบการไหลเวียนของน้ำ ส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับภูมิประเทศในพื้นที่ที่จัดใหม่ ทดแทนการปลูกฝิ่น เข้ามาดูแลให้บริการด้านความรู้ การศึกษา สุขอนามัย การบริโภค และสร้างเส้นทางคมนาคมอย่างกว้างขวางสอนเทคนิควิธีทางการเกษตรและระบบชลประทานขนาดย่อม

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวง จึงได้เปลี่ยนชื่อจากโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำ มาเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ

งานทดสอบสาธิต การปลูกไม้ตัดดอกภายในโรงเรือน ได้แก่อัลสโตมีเรีย

งานทดสอบสาธิตไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ กีวี่ฟรุต โลควอท

งานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการปลูกพืชผักภายใต้โรงเรือน เช่น พริกหวาน มะเขือเทศดอยคำ คะน้าเห็ดหอม บล็อคโคลี่
สีม่วง ถั่วลันเตาหวาน โอ๊คลีฟแดง บัตเตอร์เฮด เบบี้คอส เรดโครอลแรดิชแฟนซี และเบบี้ฮ่องเต้

งานไม้ผล ที่ส่งเสริมมี 5 ชนิด ได้แก่ พลับ พลัม อะโวคาโด มัลเบอร์รี่ และเสาวรสหวาน

กาแฟ ส่งเสริมการผลิตกาแฟอาราบิก้า

พืชไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชไร่บนพื้นที่สูง ได้แก่ ถั่วแดง ถั่วขาว และ ถั่วอะซูกิ

นอกจากงานด้านพัฒนาอาชีพการเกษตรแล้ว ศูนย์ฯ แม่โถยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การปลูกผักภายใต้โรงเรือนพลาสติก

15 ธันวาคม 2514 เวลา 10.05 น.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ พร้อมสมเด็จระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๑๐ (พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ในขณะนั้น)…ไปทรงเยี่ยมชาวเขาหมู่บ้านแม่โถ หมู่บ้านผาหมอน หมู่บ้านขุนวาง

เวลา 10.50 น เสด็จฯ ถึงบ้านแม่โถ อำเภอฮอด…พระราชทานกิ่งแอปเปิ้ลสำหรับปลูกขยายพันธ์ุ พระราชทานพระราชกระแสกับผู้ใหญ่บ้านแม่โถ ในอันที่จะส่ง วัว แกะ มาพระราชทานให้เลี้ยงแพร่พันธ์ุ…

แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จไปตามไหล่เขาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรถั่วแดงคิดนี่ ถั่วพินโถและถั่วไลมา ซึ่งพระราชทานแจกชาวเขาเป็นจำนวน 2.5 ตัน เพื่อใช้เพาะปลูกแทนการปลูกฝิ่น ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นที่พอพระราชหฤทัย…แล้วเสด็จฯ ทอดพระเนตรร้านค้าของหมู่บ้าน ในโอกาสเดียวกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงทำการตรวจรักษาโรคและแจกยาแก่ชาวบ้านโดยทั่วถึง

วันที่ 5 มกราคม 2516 เวลา 10.55 น.
เสด็จฯ ถึงหมู่บ้านแม่โถ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด พระราชทานวัวพันธ์ุบราห์มัน 2 ตัว ห่าน 10 ตัว ในการนี้พระราชทานกระแส
พระราชดำริว่า สำหรับวัวพันธุ์บราห์มันเมื่อนำไปผสมพันธ์ุกับวัวพันธ์ุพื้นเมือง ออกลูกมาแล้วจะสามารถนำออกจำหน่ายได้ราคาที่สูงกว่าวัวพันธ์ุพื้นเมืองมาก ห่านนั้นเลี้ยงง่ายไม่ต้องเสียค่าอาหารเพียงปล่อยให้กินหญ้าซึ่งมีอยู่ทั่วไป อาจฟักไข่ได้เอง หรือบริโภคมีโปรตีนสูงเสด็จฯ ทอดพระเนตรธนาคารข้าว ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวเขายืมไปบริโภคและปลูกข้าวมาคืน


วันที่ 19 มกราคม 2519 เวลา 13.20 น.
เสด็จฯ ถึงสถานีโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาหมู่บ้านแม่โถ ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรแปลงสาธิตพืชไร่ พืชผักพืชยา พืชสวน จากนั้นเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรแปลงทดลองปลูกดอกดาวเรือง ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้ดีอีกชนิดหนึ่ง

เวลา 15.20 น. เสด็จฯ ถึงโครงการพัฒนาป่าไม้หน่วยที่ 6 หมู่บ้านแม่โถ ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด ทรงทอดพระเนตรบริเวณที่จะปลูก
ป่าทดแทน ทรงมีกระแสพระราชดำรัสกับหัวหน้ากองอนุรักษ์ต้นน้ำว่าการปลูกป่าทดแทนนั้นควรพิจารณาใช้ไม้ยืนต้นหลายๆ ชนิด เพื่อประโยชน์ต่างกัน คือ ต้นไม้ยืนต้นที่สามารถใช้เนื้อไม้ได้ ใช้เป็นฟืนได้ตลอดจนไม้ผล และไม้ช่วยอนุรักษ์ดิน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2522
เสด็จฯ ไปยังโครงการหมู่บ้านหลวงพัฒนาชาวเขาบ้านแม่โถตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายโครงการหลวงพัฒนา
ต้นน้ำของกรมป่าไม้ จากนั้นเสด็จฯ ไปยังสำนักงานโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ 6 แม่โถ แล้วเสด็จฯ ไปเปิดป้ายงานจัดหมู่บ้านและพื้นที่ทำกินแบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่ไหล่เขาให้เป็นลักษณะขั้นบันได เป็นเนื้อที่ 200 ไร่ เพื่อให้ราษฎรมีที่ทำกินอย่างพอเพียง โดยจะส่งเสริมให้ปลูกข้าวปลูกถั่วหมุนเวียน ตลอดจนไม้ผลต่างๆ

วันที่ 7 มีนาคม 2525
เสด็จฯ ต่อไปยังโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ 6 หมู่บ้านแม่โถตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด ซึ่งดำเนินการโดย สำนักงานป้องกัน
และปราบปรามยาเสพติด และกรมป่าไม้

เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่าต่างๆ และสมาชิกในโครงการฯที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ บริเวณบ้านจัดสรร ซึ่งโครงการจัดสร้างด้วยคอนกรีตบล็อก สำหรับให้ราษฎรที่เป็นสมาชิกโครงการฯ อยู่ร่วมกันอย่างถูกสุขลักษณะ และอยู่ใกล้บริเวณที่ทำกิน ซึ่งส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทน เช่น ถั่วแดง มันฝรั่ง ถั่วแขก ข้าวโพดกาแฟ มะเขือเทศแครอท พริกยักษ์ ผักสลัด ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์จัดตั้งหน่วยแพทย์ชั่วคราวเพื่อตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยและทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

เพื่อความเข้าใจในการพัฒนาการทำงานของโครงการหลวงที่ค่อยๆปรับเปลี่ยนไป จึงคัดลอกบางส่วนจาก พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรในพื้นที่โครงการหลวงมา พอให้ได้รับทราบบ้าง



27 กันยายน 2560
มาถึงศูนย์ฯ แม่โถ ได้เวลาข้าวมื้อเที่ยงพอดี ทานอาหารที่ร้านของศูนย์ฯ แม่โถ ทุกอย่างทำจากผัก บ่งบอกว่านี่แหละคือศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถที่เราตั้งใจมา

ที่นี่ส่งเสริมการปลูกผักสลัดถึง 20 ชนิด เพราะผักสดใหม่จึงหวานกลมกล่อม หรือเพราะฝีมือแม่ครัวกันแน่ที่ทำให้พวกเราทานทุกอย่างจนเกลี้ยงไม่มีเหลือ อิ่มกันจนไม่อยากออกไปทำอะไร นอกจากนั่งมองภาพสายฝนที่โปรยปรายกับทิวเขาเบื้องหน้า ไม่น่าเชื่อว่าตั้งแต่นั่งรถเข้าเขตแม่โถมา ไม่ได้เห็นดอกไม้สักดอก แต่ภาพทิวทัศน์ตลอดสองข้างทางทำให้พวกเราต้องหยุดรถ แล้วกดชัตเตอร์บันทึกภาพกลับมาฝากใครต่อใคร

เมื่อฝนหยุดตกจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าเนินผักขั้นบันไดที่ทำให้เนินเขาดูสวยแปลกตานั้น ส่วนมากเป็นแปลงของเกษตรกรปลูกขายเอง ไม่ได้ส่งโครงการหลวง ปัจจุบันเกษตรกรพื้นที่สูงมีทางเลือกในการหาผู้รับซื้อได้ง่าย ด้วยเส้นทางคมนาคมที่สะดวกในการขนส่งสินค้า มีประมาณ 40เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อยู่ในการดูแลของโครงการหลวง และโครงการฯจะเน้นส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรือน ซึ่งนอกจากจะดูแลง่ายแล้วยังเป็นการลดการใช้พื้นที่ และการอยู่ในความดูแลของโครงการฯ หมายถึงการผลิตที่ต้องได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องของการใช้สารเคมีที่จะเป็นอันตรายกับผู้บริโภคการควบคุมปริมาณการผลิต การหมุนเวียนเปลี่ยนผลผลิต
เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่เสื่อมสภาพ และการไม่รุกล้ำพื้นที่ป่า

การดูแลรักษาป่าต้นน้ำตามแนวทางที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ กำหนดไว้ นั่นหมายถึง สมาชิกของโครงการหลวงต้องมีความเข้าใจในแนวทางการดำเนินชีวิตที่พึ่งพิงกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ดังคำสรุปสั้นๆของแนวทางงานส่งเสริมของโครงการที่ว่า “พึ่งพา พอเพียง พอใช้”เนื่องจากแม่โถอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร จึงเหมาะกับการปลูกผักเมืองหนาว เช่น ผักสลัด

ที่ศูนย์ฯ แม่โถ นับเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกผักแบบประณีตภายใต้โรงเรือน เพื่อลดการใช้สารเคมี ลดการใช้พื้นที่ โดยไม่ทำลายป่ามีแนวคิดให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นรายวัน รายเดือน รายปี โดยจัดสรรพื้นที่ทำกิน ดังนี้

โรงเรือนดอกไม้ ครอบครัวละ 2 โรง มีรายได้จากการตัดดอกเป็นรายวัน
โรงเรือนปลูกผัก ครอบครัวละ 4 โรง ซึ่งทำให้มีรายได้รายเดือน
ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็ปลูกไม้ผลหรือเลี้ยงสัตว์ จะทำให้ชาวบ้าน
มีรายได้ส่วนนี้เป็นรายปี
หากชาวบ้านไม่มีทุนตั้งต้นก็มีสหกรณ์กลุ่มให้ยืมเงินลงทุน ปกติชาวบ้านจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 4,000 – 5,000 บาทต่อการเก็บผลผลิต 1 ครั้ง

โรงเรือนที่เห็นทั้งหมด ปลูกลดหลั่นไปตามเนินเขา แต่ละเจ้าปลูกผักตามแผนที่ศูนย์ฯ แม่โถวางไว้ เพื่อส่งผลผลิตได้ตามแผนจากส่วนกลาง

ช่วงนี้ในโรงเรือนปลูก สลัดคอส, คะน้ายอด, ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์กและ เบบี้คอส ปีนี้เจอปัญหาไส้เดือนฝอย ทำให้รากเป็นปม มิซูนา
เป็นผักที่พบได้ในร้านอาหารญี่ปุ่นแทบทุกร้าน คอร์นสลัด เป็นผักราคาดี การปลูกสามารถหว่านเมล็ดลงแปลงได้เลย ร็อกเก็ตสลัด
มีกลิ่นฉุนนิดหน่อย ส่ง sizzler และ MK เป็นหลัก คื่นฉ่าย ปลูกได้ปีละครั้ง ถือว่าเป็นพืชราคาดี บัตเตอร์เฮด ไม่ได้ปลูกมาสี่ห้าปีแล้ว
แต่ปัจจุบัน ตลาดต้องการผักสลัดหลายชนิดมากขึ้น ปีนี้จึงนำมาปลูกอีก

บัตเตอร์เฮด กับ เบบี้คอส มีลักษณะคล้ายกัน แต่เบบี้คอสมีทรงยาวใบตั้งหนา บัตเตอร์เฮดจะมีใบแบนกว่า รูปร่างคล้ายหัวใจ


ศูนย์ฯ แม่โถมีโรงเรือนเพาะต้นกล้าอยู่ 5 โรงเรือน ชาวบ้านรับจ้างเพาะและเลี้ยงดูต้นกล้าจนแข็งแรง ส่งศูนย์ฯ เพื่อขายให้เกษตรกรต่อไป

สำหรับข้อสงสัยว่าทำไมไม่ขายเมล็ดพันธ์ุให้เกษตรกรไปเพาะกล้าเองนั้น ได้รับคำตอบว่า การให้เมล็ดพันธ์ุไป บางครั้งเกษตรกรอาจนำไปแล้ว เพาะบ้างไม่เพาะบ้าง เกิดความสูญเสียหรือสูญหายบ้าง ก็ทำให้ได้ผลผลิตไม่ครบตามแผน

นอกจากจะส่งเสริมการปลูกผักแล้ว ยังมีโรงเรือนปลูกไม้ดอกมีทั้งแบบตัดดอกและปลูกเป็นกระถาง

ดอกอัลสโตรมีเรีย (Alstroemeria) เป็นไม้ตัดดอก มีปลูกที่เดียว คือ ที่ศูนย์ฯ แม่โถ เพราะอากาศเหมาะสม การจัดการดูแลเบื้องต้นค่อนข้างยาก เป็นสายพันธ์ุนำเข้าจากประเทศอังกฤษและฮอลแลนด์ มี 7 สายพันธ์ุ เน้นพันธ์ุเบาออกดอกเร็วออกดอกทั้งปี อาทิตย์หนึ่งๆ เก็บดอก 3 วัน วันละประมาณ200 ช่อ ปลูกครอบครัว 1 ต่อ 2 โรงเรือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีรายได้ แสนกว่าบาทต่อปีและยังมีพวกไม้ถุง เช่น เจอเรเนียม ปลูกไว้ส่งพืชสวนโลกปีละครั้ง

โรงเรือนของชาวบ้าน
ได้มีโอกาสเยี่ยมชมสวนของชาวบ้านซึ่งกำลังเก็บผลผลิต ต้องรีบไปแต่เช้า เพราะชาวบ้านจะเก็บผลผลิตกันในช่วงเช้า

สวนแรกของพี่จินดา เริ่มเก็บตั้งแต่ 6.00 – 9.00 น. กำลังเก็บ “คอร์นสลัด”

สวนที่ 2 ของพี่อริสา กำลังเก็บ “ร็อกเก็ตสลัด” เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า ร็อกเก็ตสลัดต้นเล็กกว่าจะเก็บได้ตะกร้าหนึ่งก็ใช้เวลาพอสมควร

สวนที่ 3 ของแม่หล้า กำลังเก็บ “ปวยเล้ง”แต่ละโรงเรือนมีคนช่วยกันหลายคนเป็นการ “เอามื้อ” ทุกคนสนุกสนานอารมณ์ดี เจ้าของโรงเรือนก็จัดขนมมาบริการคนมาช่วย ดูเป็นบรรยากาศ สนุกสนานและน่ารัก ได้เจอลุงอิ่นคำเล่าว่า เมื่อก่อนปลูกมะเขือเทศ ทำเองก็เสียหายเยอะ เพราะไม่รู้วิธีแก้ปัญหา พอได้เข้ามาอยู่ในโครงการหลวง ตั้งแต่ปี 2549 มีคนคอยดูแลช่วยแนะนำทุกอย่างมีตลาดรับซื้อไม่ต้องวิ่งหาเอง ทำให้มั่นคงขึ้น งานก็เบาลง แรกๆ โรงเรือนของลุงก็เป็นโรงไม้ไผ่ พอเริ่มทำมาได้ไม่นานก็มีเงินเปลี่ยนเป็นโครงเหล็ก

โรงคัดบรรจุ
จากนั้นก็มาที่โรงคัดบรรจุ โรงคัดบรรจุของศูนย์ฯ แม่โถนอกจากจะรับผลผลิตของชาวบ้านที่อยู่ในความดูแลแล้ว ยังต้องรับของแม่สะเรียงและแม่ลาน้อยด้วย ในการรับผลผลิตสมัยก่อนที่การเดินทางยังไม่สะดวกโครงการหลวงจะเข้าไปรับผลผลิตตามแปลงของชาวบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านมีรถของตนเองก็เข้ามาส่งเองได้ ก็มีบ้างที่ทางศูนย์ฯ แม่โถยังต้องช่วยไปรับให้อยู่ รับมาแล้วมาคัดชั่งน้ำหนักที่ศูนย์ฯ แม่โถ ผักที่เข้าโรงคัดจะมีการแช่คลอรีนความเข้มข้นต่ำ ที่รอยตัดเพื่อกันเน่าและเชื้อแบคทีเรียคอร์นสลัดต้องล้างน้ำเปล่าและแช่คลอรีน 10 % เพราะปลูกติดดิน

เมื่อคัด ตัดแต่งเรียบร้อยแล้วก็เอาเข้าห้องเย็น 4-7 องศาเซลเซียสรอรถห้องเย็นมารับตอนบ่าย 3 ไม่เกิน 5 โมงเย็น ปัจจุบันที่ศูนย์ฯ แม่โถมีรถห้องเย็นส่งผลผลิตไปที่กรุงเทพเอง ส่งตรงไป ม.เกษตรและ MK จัดส่งวันจันทร์ พุธ ศุกร์

ศูนย์ฯ แม่โถจัดเป็น 1 ใน 9 ศูนย์ฯ ที่ได้มาตรฐาน GMP, HACCPเท่ากับมาตรฐานยุโรป หรือ GAP จากกรมวิชาการเกษตร (มีการมาสุ่มตรวจทุกๆ ปี)

มาเที่ยวศูนย์ฯ แม่โถ ก็คงไม่ต้องไปที่ไหนต่อ เพราะมีธรรมชาติอันงดงามทุกเส้นทางที่ผ่าน ด้วยเนินเขาที่มีแต่พืชไร่ และแปลงผัก เป็นความงามที่ดูโล่งโปร่งตา ทำให้มองเห็นเขาซ้อนเขาไปได้ไกล และที่แม่โถยังมีวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้าน ให้เราได้สัมผัส ทำให้เรารู้สึกสงบและผ่อนคลาย

แม่โถยังมีจุดชมวิวที่เปิดอย่างเป็นทางการ และเป็นที่รู้จักแล้วมีชื่อว่า “ดอย 360 องศา” นักท่องเที่ยวชอบมากางเต็นท์ชมทิวเขา
กว้างรอบตัว สัมผัสหมอกยามเช้าอันสดชื่น และ “ทุ่งหญ้าสะวันนา”ได้เห็นยอดหญ้าเอนไหวลู่ไปกับลมที่พัดหวนไปมา กับฝูงสัตว์เลี้ยงที่เดินเล็มหญ้าเป็นภาพความงามที่แปลกตา

ขอขอบคุณ…
คุณศุภชัย วิหคไพรวัลย์ (อ.ชาติ) นักวิชาการไม้ดอก
คุณสินธ์ชัย ศรีฉลวยมาลี เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สาร
คุณศรีรัตน์ อัมพรธารา (พี่แนน) นักวิชาการหลังการเก็บเกี่ยว
คุณอิ่นคำ อมรศรีคงคา เจ้าของโรงเรือนผัก
พี่จินดา เจ้าของโรงเรือนผัก
พี่อริสรา เจ้าของโรงเรือนผัก
แม่อุ้ยหล้า เจ้าของโรงเรือนผัก
พี่รี แม่ครัวประจำศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ

เรื่องราวและภาพจาก…
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ
ที่อยู่ : บ้านแม่โถ หมู่ 1 ตำบลบ่อสลี
อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ 50240
โทรศัพท์ : 0 5321 0935 หรือ 08 5623 3295[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".