[:TH]สถานีวิจัยโครงการหลวง “แม่หลอด” (กาแฟ)[:]

[:TH]

สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด พัฒนามาจาก “ศูนย์วิจัยกาแฟอาราบิก้า” ที่บ้านแม่หลอด ซึ่งจากเดิมที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัสให้หาพืชเมืองหนาวมาปลูกทดแทนฝิ่น กาแฟก็เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีการนำมาส่งเสริมให้ชาวบ้านที่นี่ปลูกเช่นกัน คือ กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ทิปิก้า (Typica) เบอร์บอน (Bourbon) และแคททูรา(Caturra) แต่ต่อมาได้เกิดการแพร่ระบาดโรคราสนิมอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตตกต่ำมาก จึงมีพระราชดำริให้ทำการวิจัยและพัฒนาการปลูกกาแฟอาราบิก้าบนพื้นที่สูง ภายใต้การช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA ) และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรของประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีการนำพันธุ์กาแฟลูกผสม สายพันธุ์ต้านทานโรคราสนิมจาก ศูนย์วิจัยโรคราสนิมของโปรตุเกส จำนวน 28 คู่ผสมรวมทั้งได้นำพันธุ์แท้อื่นๆ ทั้งหมดมาปลูกที่ศูนย์วิจัยกาแฟบ้านแม่หลอด การดำเนินงานวิจัยสายพันธุ์ จึงเริ่มจากปี พ.ศ.2517 เป็นต้นมา
จนถึงปี พ.ศ. 2523 สายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าก็ได้แพร่หลายออกไปยังแหล่งปลูกต่างๆ เช่นที่ ขุนวาง, วาวี, เขาค้อ, ดอยมูเซอ และป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด

ใน พ.ศ. 2527 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงกรุณารับ“ศูนย์วิจัยกาแฟอาราบิก้า” ไว้ในความดูแลของโครงการหลวงและได้ชื่อว่า “สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด”

การคัดเลือกสายพันธุ์ต้านทานโรคราสนิม ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนมีแปลงลูกผสมชั่วที่ 3-4-5 และ 6 ขณะเดียวกันสถานีฯ แม่หลอด ได้นำไม้โตเร็วมาปลูกเป็นร่มเงาให้ต้นกาแฟมากถึง 7 ชนิด จนเป็นสวนกาแฟภายใต้ร่มเงาที่สมบูรณ์ที่สุด

ปัจจุบันมีกาแฟที่ได้ปรับปรุงพันธุ์และขึ้นทะเบียนได้รับการรับรองจากกรมวิาการเกษตรว่า เป็นพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคราสนิม
เป็นอย่างดี คือ พันธุ์เชียงใหม่ 80 ถือว่าเป็นพันธุ์ตั้งชื่อไทยพันธ์ุแรกที่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นการร่วมมือจากหลายฝ่ายหลายศูนย์วิจัย

สถานีฯ แม่หลอด ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่หลอดเหนือ บ้านแม่หลอดใต้ บ้าน
แม่เจี้ยว และบ้านผาแตก ประชากรเป็นคนพื้นเมือง และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง

2 ตุลาคม 2560
ไปที่ไหน เที่ยวที่ไหน ขาดไม่ได้ คือ ร้านกาแฟสดจากไร่ในเมืองไทยนี่เอง พวกเราจึงตัดสินใจไปค้นหาแหล่งกำเนิดที่ก่อเกิดการวิจัยจนกาแฟไทยหอมกรุ่นไปทั่วแผ่นดิน

สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อยู่ไม่ไกลเลย จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางแม่แตง เข้าเส้นทางแยกแม่มาลัย – ปาย แค่ 18 กิโลเมตรเจอทางเข้าน้ำตก “หมอกฟ้า” อยู่ซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปผ่านน้ำตกแค่ 1 กิโลเมตรก็ถึงแล้ว

ถึงทางเข้าก็ถึงที่ทำการสถานีฯ แม่หลอดกันเลย บรรยากาศร่มรื่นของสวนป่าที่ให้ร่มต้นกาแฟรอบสถานีฯ ทำให้รู้ว่า จะปลูกต้นกาแฟก็ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าก็ได้นะ

ได้พบหัวหน้า “มุ่ย” (คุณพัฒนา ชัยสิทธิ์) หัวหน้าสถานีฯแม่หลอด กับ คุณโอ๋ (คุณจักราช สาอุดร) นักวิชาการกาแฟ ใน
ห้องทำงานของสถานีฯ แม่หลอด ดูเป็นการเป็นงานจนเราเริ่มเกร็ง ได้ข้อมูลของการเกิดสถานีฯ แม่หลอด ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

แต่ก่อนจะคุยกันต่อไป หัวหน้าคงสงสารท่าทางเกร็งๆ ของพวกเราเลยชวนไปนั่งสบายๆ สไตล์ระเบียงกาแฟกันดีกว่า

อากาศสบายรอบกายมีแต่ความร่มรื่น พวกเราผ่อนคลาย ก็เริ่มฟังเลคเชอร์กันต่อไป

คุณโอ๋เล่าต่อว่า…ขั้นตอนการวิจัยที่เริ่มจากการปรับปรุงพันธุ์แก้ปัญหาโรคราสนิมน่ะ เราไม่ได้ทำ ทางโปรตุเกสเขาเป็นคนทำ จนได้
พันธุ์กาแฟที่แข็งแกร่งต้านทานโรคราสนิมได้ เราก็เลือกสายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคราสนิมนี่แหละมาทดลองปลูก

 

การจะคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อนำไปส่งเสริมก็ต้องทดลองกันต่อไปเริ่มจากเอาลูกผสมที่โปรตุเกสปรับปรุงแล้วนี่แหละ มาเพาะเป็นต้น
กล้าแล้วเอาไปปลูก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ก็จะได้เมล็ด เราก็นำเมล็ดนั้นมาเพาะเป็นต้นกล้าอีกครั้ง พอได้ต้นกล้าแล้ว ทีนี้ก็เอาเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค (โดยการขูดเอาสปอร์เชื้อรา) มาผสมน้ำแล้วฉีดลงไปที่ต้น แต่ต้องทำในห้องทดลองที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมเชื้อราจะได้เจริญเติบโต ประมาณเดือนครึ่งก็เริ่มตรวจเชื้อ ต้นไหนไม่เป็นโรคก็ถือว่ามีความต้านทานในระดับแรกแล้ว ต้นไหนเป็นโรคก็คัดทิ้งไป แล้วเอาต้นกล้าที่ไม่เป็นโรคไปปลูกต่อ ทำซ้ำๆ แบบนี้เป็นรุ่นๆ ไป

แต่การวิจัยยังไม่จบ ยังมีตอนต่อไปต้นที่นำมาปลูกลงแปลง ก็จะถูกตรวจสอบกันอีกว่าจะยังมีความต้านทานโรคไหมเมื่อมาอยู่ในแปลง จะมีการเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตวัดความกว้างของพุ่ม ความสูงของต้น แล้วก็เก็บผลผลิต เพื่อเก็บข้อมูลว่ามีความต้านทานแล้ว ผลผลิตล่ะดีไหม ถ้าต้านทานโรคดีแต่ผลผลิตไม่ดีก็ยังใช้ไม่ได้ ดังนั้นในการวิจัยจึงต้องผสมหลายๆ สายพันธุ์เพื่อเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม บางทีก็เอาความต้านทานปานกลางแค่พอทนสู้โรคได้ แต่ได้ผลผลิตเยอะๆ ต้องทดสอบสายพันธุ์ไปจนกว่าจะนิ่งบางครั้งก็ไปนิ่งเอารุ่นที่ 3-4 หรือบางทีก็ไปถึงรุ่น 5-6 ก็มี

แต่ระยะหลังนี้ ตลาดเริ่มเปลี่ยนกลับไปสนใจรสชาติแบบดั้งเดิม(พันธุ์ที่ไม่ทนโรค) เพราะรสชาติดีกว่าพันธุ์ลูกผสม ทางสถานีฯ แม่หลอดเลยมีแนวคิดว่า จะทดสอบพันธุ์ที่มีรสชาติให้มากขึ้น เพราะพันธุ์ลูกผสมต้านทานโรคก็มีแล้ว ลองมาเน้นเรื่องรสชาติกันบ้างดีกว่า

แล้วพวกเราก็เลยได้ชิมกาแฟรสชาติต่างๆ ชิมกันไปคุยกันไปจิบกาแฟกันไปทั้งร้อนทั้งเย็น คนละแก้วสองแก้ว จนเริ่มมึนคล้ายจะเมา
จะให้ตอบว่ารู้ไหมกาแฟอะไร รสชาติอย่างไร ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ก็พวกเราไม่ใช่คอกาแฟแท้ๆ สักคน ยังกังวลอยู่ว่า คืนนี้จะได้หลับเป็นตายหรือจะต้องนอนก่ายหน้าผากตาค้างกันทั้งคืนนะเนี่ย

เมื่อการวิจัยสำเร็จสามารถปลูกต้นกาแฟให้ผลผลิตได้ดีแล้วเกษตรกรก็ต้องเรียนรู้เรื่องการผลิตเมล็ดกาแฟดิบที่ดีต่อไป กรรมวิธีการ
ผลิตเมล็ดกาแฟดิบมี 2 วิธี

1. แบบแห้งหรือแบบธรรมชาติ เป็นวิธีที่ใช้ความร้อนจากแสงแดด ในการนำผลกาแฟที่อยู่ในระยะที่เรียก cherry (ผลสีแดง) มาตากให้แห้ง ใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และปริมาณแสงแดดในแต่ละวัน นิยมใช้ในแหล่งปลูกกาแฟที่ขาดแคลนน้ำ ข้อเสียของวิธีนี้ก็คือ ระหว่างที่ตากแห้งเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟที่มีน้ำตาลอยู่จะเกิดปฏิกิริยาการหมัก ทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติของกาแฟเพี้ยนไปจากปกติและไม่สามารถเก็บไว้ได้นานต้องรีบนำไปขัดสี


2. แบบเปียก เป็นวิธีการผลิตที่นิยมมากกว่า เพราะผลผลิตที่ได้มีความสะอาดและรสชาติที่แน่นอน แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เพราะต้องใช้อุปกรณ์ แรงงาน และน้ำมากกว่าการผลิตแบบแห้ง วิธีนี้เริ่มต้นจากเก็บผลเชอรี่มาแล้ว นำมาแช่น้ำเพื่อแยกเมล็ดที่มีความหนาแน่นน้อย(เมล็ดที่ยังไม่สุก) ซึ่งจะลอยน้ำออกเสียก่อน ล้างเชอร์รี่ให้สะอาดแล้วนำไปลอกเปลือกโดยเข้าเครื่องโม่ ซึ่งเครื่องโม่นี้จะต้องใช้น้ำหล่อลื่น(เรียกสีเปียก) เมื่อได้เมล็ดพร้อมเปลือกชั้นในแล้ว นำมาล้างในบ่อแช่ทิ้งไว้ 24-72 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อล้างเยื่อเมือกออก แล้วจึงนำไปตากแห้ง ประมาณ 7-10 วัน ควรพลิกกาแฟในลานตากอย่างน้อยชั่วโมงละครั้งจนกว่าจะแห้ง แล้วนำไปสีเอาเปลือกชั้นในออก จึงได้เป็นสารกาแฟหรือเมล็ดกาแฟดิบ การผลิตด้วยวิธีนี้จะได้สารกาแฟที่มีคุณภาพสูงกว่าและได้รสชาติคงที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในตลาด

ขั้นตอนต่อไป คือ การคั่วกาแฟ
การคั่วกาแฟมี 3 ระดับด้วยกัน

– คั่วอ่อน เมล็ดกาแฟยังมีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายเปลือกไม้ แกนกลางยังไม่ไหม้ กาแฟจะยังมีรสเปรี้ยว แต่กลิ่นจะหอม การคั่วระดับนี้
เหมาะกับการดื่มเป็นกาแฟดำ ที่ต้องการสัมผัสรสชาติกาแฟอย่างแท้จริง

– คั่วปานกลาง เมล็ดมีสีช็อกโกแลตเข้ม แกนกลางไหม้บางส่วนการคั่วระดับนี้เหมาะสำหรับการชงด้วยเครื่องที่ใช้กระดาษกรอง ต้องใช้น้ำผ่านเยอะๆ ให้ได้ความเข้มข้นในปริมาณพอเหมาะ

– คั่วเข้ม เมล็ดมีสีน้ำตาลแดงเข้ม แกนกลางไหม้ รสชาติจะเข้มบาดลิ้นเหมาะสำหรับใช้ชงแบบเอสเปรสโซ

นอกจากการวิจัย และส่งเสริมการปลูกกาแฟให้กับชาวบ้านแล้วสถานีฯ แม่หลอด ยังต้องหาตลาด ช่วยดูแลแปลง ช่วยแก้ปัญหา
ทั้งเรื่องโรค แมลงศัตรูพืช ใครต้องการปลูกใหม่ก็มีต้นกล้าสนับสนุนแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีไร่กาแฟมาก่อนแล้ว ส่วนมากทำกันเอง แต่ถ้ามีปัญหาอะไรก็มาปรึกษาได้ ปัญหาที่มาปรึกษาก็มีเรื่องโรค เรื่องแมลงหรือหาสายพันธุ์ใหม่ กาแฟต้นหนึ่งๆ ปลูกแล้วมีอายุนานตั้งแต่ 40-50 ปีส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกทิ้งไว้แล้วก็ดูแลไปเรื่อยๆ ไร่กาแฟกลายเป็นอาชีพเสริม ไม่เหมือนปลูกผักที่ต้องดูแลหมุนเวียนไปตลอด

จบจากฟังเลคเชอร์ก็ออกไปสัมผัสของจริงที่แปลงวิจัยกาแฟ ที่นี่มีพื้นที่สำหรับทำแปลงวิจัยกาแฟอยู่ประมาณ 30 ไร่ แต่ละแปลงปลูกเป็นแถวๆ แบ่งเป็น 2 แถวต่อ 1 สายพันธ์ุ ถ้าพันธุ์เดียวกันจะมีระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร ถ้าคนละพันธุ์กันจะเว้นห่างไว้ 3 เมตร วันนี้ได้รู้ว่าผลกาแฟที่อยู่ในระยะที่เรียกเชอร์รี่ คือ กำลังมีสีแดงนั้น เราสามารถทานสดๆ ก็ได้ มีรสหวานเหมือนผลไม้ทั่วไป

ที่นี่ยังมีการวิจัยไม้ผลพันธุ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ไม้ผล ไม้ผลที่กำลังวิจัยอยู่ก็มี แบล็คเบอร์รี่, ทับทิม, ทับทิม
อินเดีย, มะม่วง, องุ่น แต่ยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกร

นอกจากการวิจัยแล้วที่สถานีฯ แม่หลอดยังส่งเสริมการปลูกผักแต่เน้นผักกินหัว เพราะไม่มีห้องเย็นไว้เก็บ และเกษตรกรก็ไม่มากพอผักที่ส่งเสริมก็มี..แตงกวาญี่ปุ่น ถั่วขาว ถั่วแดง ถั่วอะซูกิ ถั่วแดงหลวงมะเขือม่วง ถ้าเป็นผลไม้ก็มี ส้มคัมควอท เลมอน นอกจากนี้ก็ส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง เช่น หมู ไก่

ส้มคัมควอท
การศึกษาภาคบ่ายของเราวันนี้ คุณแม็ค (คุณเรวัฒ พงศ์สกุล)นักวิชาการไม้ผล เป็นผู้พาพวกเราออกทัศนศึกษาตามสวนของสมาชิกเกษตรกรที่สถานีฯ แม่หลอดส่งเสริมอยู่ลุงสุขกับป้าวิไล เจ้าของสวนที่เรามาดู เป็นเกษตรกรตัวอย่างของโครงการหลวง อาทิตย์หน้าลุงสุขจะไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น

ลุงสุข (สุข เจาะจันทร์) เล่าให้ฟังว่า ลุงเข้ามาเป็นสมาชิกของโครงการหลวง กว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ลูกคนโตของลุงยังเล็กๆ อยู่เลย
ตอนนี้อายุ 23 เข้าไปแล้ว ก่อนเข้าโครงการหลวงลุงก็ทำงานรับจ้างทั่วไป มีที่ดินก็ทำนาทำไร่ไปเรื่อย ทำนาเสร็จที่ไหนมีงานก็ไปรับจ้างทำรายได้ไม่มั่นคง แต่พอเข้ามาอยู่ในโครงการหลวง แรกๆ ก็ปลูกผัก หลังๆมาก็เน้นการปลูกพืชผล เพราะปลูกทีเดียวได้ผลยาวทั้งปี ทำให้มีรายได้พออยู่พอกิน

สวนของลุงสุขมีส้มลูกเล็กๆ น่ารักดี เคยเห็นมีขายในตลาดแต่ยังไม่เคยชิม ลุงบอกเขาเรียกส้ม “คัมควอท” Kumquat กินได้ทั้ง
เปลือก เปลือกจะมีรสหวาน แต่เนื้อข้างในจะเปรี้ยว มีทั้งแบบลูกกลมและลูกรี แต่ลูกกลมจะรสชาติหวานกว่า ลุงปลูกมา 6 ปีแล้ว ได้ผลผลิตดีทุกปี ตอนนี้กำลังออกลูกเต็มเลย

ส้มคัมควอท ฟังไม่คุ้นหู แต่พอบอก “ส้มกิมจ้อ” ก็คุ้นขึ้นมาทันที เขาบอกว่าชื่อนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาจีน หมายถึง “ส้มสีทอง”
แต่ว่าบางคนออกสำเนียงเป็น กิมกิด หรือ กำกั๊ต หรือ คัมควอท ส่วนคนไทยเราก็ออกเสียงว่า “กิมจ๊อ”

แล้วพวกเราก็ได้พิสูจน์กันว่าส้มเปลือกหวานนี่หวานจริงไหม แต่ที่แน่ๆ เนื้อข้างในเปรี้ยวจี๊ดจนนึกถึงชื่อส้มจี๊ดขึ้นมาเลย แท้จริงส้มจี๊ดนั้นพวกเรากินผิดใช่ไหม หรือเป็นส้มคนละพันธุ์กัน ?

จากสวนคัมควอทเราก็เดินกันไปเรื่อยๆ อากาศเย็นกำลังสบายได้ยินเสียงน้ำไหลตลอดเวลา แล้วพวกเราก็เข้ามาในสวนเลมอน เลมอนลูกใหญ่ๆ ทั้งนั้น แต่ผิวไม่ค่อยสวย มีถุงหลายๆ แบบห่อเลมอนไว้บางแห่งเหมือนกางมุ้งไว้ให้ คุณแม็คบอกว่า กำลังอยู่ในช่วงทดสอบว่าจะกันแมลงแบบไหนให้ต้นเลมอนดี ที่แมลงไม่สามารถเจาะทะลุผลทำให้ผิวหมดสวย ปลูกไปก็ทดสอบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ดีที่สุด เป็นบรรยากาศดีๆ ท่ามกลางธรรมชาติสดชื่น ลุงกับเจ้าหน้าที่เดินคุยกันไปปรึกษากันไปหาทางแก้ปัญหาของเลมอน เป็นความอบอุ่นที่เผื่อแผ่มาถึงพวกเราที่มีโอกาสได้มาสัมผัส ก่อนลาลุงพวกเรายังได้ชิมอะโวคาโดลูกเล็กที่เนื้อนวลเนียนอร่อยมากๆ แล้วยังตามด้วยแก้วมังกรหวานฉ่ำทั้งขาวทั้งแดง ลุงบอกพวกนี้ปลูกไว้กินไม่ได้ปลูกไว้ขาย

มาสถานีวิจัยกาแฟเราก็ได้ชิมกาแฟจนหายง่วง มาสวนผลไม้ก็ได้ชิมผลไม้จนอิ่ม เย็นนี้คงไม่ต้องทานอะไร และคืนนี้ก็คงไม่ต้องนอน

แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องลาลุงสุข ป้าวิไล คุณแม๊ค และสถานีวิจัยฯแม่หลอด เพราะพวกเรายังต้องเดินทางกันต่อไป

ออกจากสถานีฯ แม่หลอดแวะชม “น้ำตกหมอกฟ้า” สักหน่อยเย็นแล้วเลยไม่มีเวลาเดินศึกษาธรรมชาติ ไม่มีโอกาสได้เห็นน้ำที่หลั่งไหลแค่เห็นสายน้ำบางๆ ก็สร้างความชุ่มชื้นจนพื้นหินลื่นไปทั่ว พวกเราได้ลงไปวัดพื้นกันถ้วนหน้า ถ้าใครแวะมาอย่าลืมอ่านป้าย เขาเตือนไว้แล้ว…อย่าลบหลู่…

ขอขอบคุณ…
คุณพัฒนา ชัยสิทธิ์ (หัวหน้ามุ่ย)
หัวหน้าสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
คุณจักราช สาอุดร (พี่โอ๋) นักวิชาการกาแฟ
คุณเรวัฒ พงศ์สกุล (แม็ค) นักวิชาการไม้ผล
ลุงสุข ป้าวิไล เจาะจันทร์ เจ้าของสวนบ้านผาแด่น

เรื่องราวและภาพจาก…
สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
ที่อยู่ : เลขที่ 91 หมู่ 10 บ้านแม่หลอด ตำบลสบเปิง
อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150
โทรศัพท์ : 0 5331 8303, 08 1961 0014[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".