[:TH]สถานีเกษตรหลวง “อ่างขาง” (พี้ชอำพัน)[:]

[:TH][metaslider id=1838]

            อ่างขาง…คงไม่มีใครไม่รู้จัก  โดยเฉพาะหน้าหนาวต้องคอยฟังข่าวกันทุกปีว่าหนาวนี้ที่อ่างขางกี่องศา  ยิ่งอุณหภูมิต่ำเท่าใด  ใครๆ ก็อยากรีบขึ้นไปสัมผัส  นอกจากความหนาวเย็นจนเป็นแหล่งเก็บข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือของกรมอุตุฯ แล้ว  ยังเป็นที่ตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางของมูลนิธิโครงการหลวง  ซึ่งมีไม้ดอกไม้ประดับอันสวยงามของต่างประเทศหลากหลายให้ไปชม  มีที่พักหลายรูปแบบให้เลือกพักกับบรรยากาศเงียบสงบในยามเย็นกลางหุบเขาบนดอยสูง เช้าขึ้นมายังได้มีโอกาส  ดูพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดดอย  สัมผัสหมอกที่ลอยจากกลางหุบเขาเข้ามาให้ชื่นใจในยามเช้า

แต่สำหรับพวกเรามาปลายฝนต้นหนาว  ได้พบบรรยากาศใหม่ๆ ที่ทำให้รู้ว่า  แม้ยังไม่ใช่หน้าหนาวที่นี่ก็มีธรรมชาติที่สวยงามและมีเรื่องราวน่าสนใจมากมาย  จนสองวันหนึ่งคืนก็ยังไปไม่ทั่วถึงดังตั้งใจ

            ประวัติของการก่อเกิด “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”หรือคำเรียกที่คุ้นเคย…โครงการหลวงอ่างขาง…คงมีให้อ่านกันมากแล้ว  เมื่อมายืนอยู่ในพื้นที่จริง ณ วันนี้คงไม่มีใครนึกออกว่า ดอยอ่างขางที่บอกว่าเคยเป็นไร่ฝิ่นนั้นโล่งกว้างขนาดไหน  ลมพัดแรงจนแทบยืนไม่ติดนั้นเป็นอย่างไร  เส้นทางเข้าที่ทุรกันดารสร้างความลำบากแค่ไหน

ยิ่งเมื่อคุณตรี เจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงชี้ให้ดูเส้นทางเดินเท้าไต่เขาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  ทรงใช้ในการเข้ามาถึงอ่างขาง  พวกเราได้แต่ตื้นตัน  เส้นทางเช่นนั้น  พวกเราจะกล้าฝ่าฟันไหม

ทรงบากบั่นเพื่อรักษาพื้นดินทุกตารางนิ้วของประเทศ ทรงห่วงใยทุกข์ สุขของพสกนิกรทุกชนเผ่า ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะรู้จัก และเข้าพระราชหฤทัยทุกสิ่งก่อนจะหาทางแก้ไข… และนั่นคือแนวทางที่ทรงวางไว้กับการก่อตั้งโครงการหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์  เมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้เปลี่ยนเป็น สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในปี พ.ศ. 2514 ไต้หวันได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาสภาพพื้นที่และความเหมาะสมในการปลูกไม้ผลเมืองหนาว หลังจากนั้นก็ได้ส่งเชื้อเห็ดหอม และพันธ์ุพืชมาถวายโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้ทรงนำมาใช้ประโยชน์ตามพระราชประสงค์ในโครงการหลวง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางใช้เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าวิจัยพืชผลเมืองหนาวที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ เพื่อนำผลจากการทดลอง ค้นคว้าและวิจัย จนได้มาตรฐานแล้ว มีตลาดรองรับแล้ว ไปส่งเสริมให้ชาวไทย ภูเขาเผ่าต่างๆ และชาวจีนยูนนานที่อพยพลี้ภัยเข้ามาอาศัยในแผ่นดินไทยนี้นำไปปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้การพัฒนาต่างๆ ในทุกพื้นที่ จะต้องสอดคล้องกับการอนุรักษ์พื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กบนภูเขา เพื่อทดน้ำมาใช้ในการเกษตรกรรม หรือการปลูกป่าฟื้นฟูป่าธรรมชาติ

ดูเหมือนว่า การจะพัฒนาชุมชนสัก 1 ชุมชน นอกจากการเกษตรแล้วยังต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายหน่วยงาน ต้องสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนทุกเรื่อง ตั้งแต่การอนุรักษ์ป่า รักษาดิน ดูแลต้นน้ำลำธาร การตลาด การท่องเที่ยว มลพิษ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย การศึกษา และทุกเรื่องก็ยังคงเป็นเรื่องที่มูลนิธิโครงการหลวงต้องดำเนินต่อไป นั่นหมายถึง เจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงต้องดำเนินงานด้วยความเสียสละ เพื่อให้จุดประสงค์ของมูลนิธิฯ ดำเนินไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ นั่นคือ

…ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก….
ด้วยแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง

19 กันยายน 2560

พวกเราขึ้นมาถึงอ่างขางเมื่อเวลาประมาณ 10.45 น คิดว่าใกล้เที่ยงแล้วควรเรียนคุณมณพัฒ ยานนท์ (คุณตรี) นักประชาสัมพันธ์เกษตรหลวงอ่างขางว่า จะขอไปสำรวจบริเวณโดยรอบของสถานีให้ทั่ว จะได้พอนึกภาพต่างๆ ได้ในขณะพุดคุยกัน แล้วจะมาพบหลังอาหารเที่ยง แต่เมื่อพบกัน ยังไม่ทันแนะนำตัว ก็ไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ มีข้อมูลเบื้องต้นมากมายจนบันทึกกันไม่ทัน เวลาผ่านไปเกิน 2 ชั่วโมง ท้องเริ่มประท้วง ก็ได้เวลาพักทานอาหารกลางวัน ระหว่างทานอาหารประกอบด้วยผักสดจากไร่ที่สโมสร เราก็พยายามเรียบเรียงเรื่องราวที่ได้รับฟังมา ทำให้สรุปตามความเข้าใจได้ว่า สถานีเกษตรหลวงอ่างขางนี้
มีงานหลักๆ คือ
…เป็นสถานีวิจัยพืชพันธ์ุใหม่ๆ ที่สามารถนำไปส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้ต่อไป
…เป็นศูนย์พัฒนา ส่งเสริมและดูแลชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงมาตั้งแต่ต้น ได้แก่ บ้านนอแล บ้านขอบด้ง บ้านปางม้า บ้านคุ้มและบ้านหลวง
…เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน ของผู้สนใจงานด้านพืชเมืองหนาว และการพัฒนาชุมชน
…เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อันสวยงามและวิถีชีวิตชนเผ่าที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติสนใจ

จากข้อมูลเบื้องต้น คุณตรีก็พาไปสัมผัสของจริงทุกจุดของสถานีฯอ่างขาง แม้จะเคยขึ้นมาที่นี่สองสามครั้งแล้ว แต่วันนี้เริ่มเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยทุกคน เริ่มรู้สึกว่า ณ ที่นี้ก็คือแผ่นดินของเรา ที่ที่สร้างไว้เพื่อให้คนไทยไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายใด ได้เรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น ด้วยแนว…เศรษฐกิจพอเพียง…ที่เปี่ยมล้นด้วยความเข้าใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใส่ใจกันและกัน ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นกับทุกคนที่พบเจอ เสมือนว่าทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน

งานวิจัย

ถึงจะมีพันธ์ุพืชวิจัยหลายชนิด แต่พวกเราตั้งใจมาหาข้อมูลเรื่องพีช เราจึงได้พบกับ คุณณัฐทวี มาบางครุ (เอ) นักวิชาการพีช ได้ชื่อว่าเป็นนักวิจัยพันธุ์พีชและพลัมคนเดียวของประเทศไทย

ก่อนพบคุณเอ พวกเราคาดไว้ว่าจะได้พบกันในห้อง LAB แบบนักวิทยาศาสตร์ ห้องวิจัยที่มีเครื่องมือมากมาย เพราะยังไม่เข้าใจว่าการวิจัยและทดลองพันธ์ุพืชนั้นเขาทำกันอย่างไร จึงแปลกใจที่พบคุณเอ ศิลปินร่างใหญ่ใส่เสื้อยืดรองเท้าแตะ ขี่มอเตอร์ไซค์ BIGBIKE แล้วพาพวกเราไปชมสวนพีช…ที่โครงการหลวงสะกดว่า….พี้ช…เพราะคนชอบสับสนกับคำว่า..พืช…

ในแปลงทดลองหลายแปลงที่เดินผ่านไปมีป้ายบอกไว้ว่าเป็น พี้ชพันธุ์อะไร ออกดอกเมื่อไร เก็บเกี่ยวผลเมื่อไร แปลงที่คุณเอพามาดูเป็นพี้ชที่ดูแก่มากๆ แต่แท้จริงมันผลัดใบไปหมดแล้วและกำลังผลิดอก กิ่งก้านโดนรัดตรึงไว้ให้แผ่ไปตามนอน เพื่อการดูแลและเก็บเกี่ยวที่สะดวก เราคิดว่าต้นไม้ที่เราต้องการผลประโยชน์จากมัน จะโดนบังคับจนดูเหมือนไม่ใช่ต้นไม้ แล้วมันก็ยอมออกดอกออกผลเต็มไปหมด ก็ดูซิ…ตอนนี้ทุกๆกิ่งมีตุ่มตามากมาย คุณตรีพยายามสอนให้ดูว่าตุ่มไหนคือดอกตุ่มไหนคือใบ ฟังแบบนี้แล้วอยากกลับมาวันที่ดอกท้อบาน ไม่รู้จะสวยเหมือนดอกซากุระไหม ก็ดอกมันเหมือนกันจนเราคงแยกไม่ออกว่าดอกไหน
พี้ช บ้วย หรือซากุระ

ได้ความรู้ว่าเดิมพี้ชที่ปลูกๆ กันนั้นเป็นพันธุ์ที่มากับคนจีนที่อพยพลี้ภัยเข้ามา เอาผลมากินแล้วเอาเมล็ดมาเพาะจนเกิดเป็นต้นพี้ช หรือที่เราเรียกว่า “ลูกท้อ”

ส่วนพี้ชที่ปลูกทดลองอยู่ในสถานีแห่งนี้เป็นพี้ชสายพันธ์ุต่างประเทศโครงการหลวง นำมาวิจัยเปลี่ยนสายพันธุ์ให้สามารถปลูกและเติบโตได้ในพื้นที่ประเทศไทยประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งขณะนี้โครงการหลวงมีพี้ชสายพันธ์ุของตนเองชื่อ อำพันอ่างขาง 1, 2, 3, 4 ปลูกทดลองหลายรุ่นจนได้ผลคงที่ตามต้องการ จากพี้ชก้นแหลมทำให้ไม่สะดวกในการจัดส่ง ก็มีการปรับผสมสายพันธ์ุเพื่อให้ได้พี้ชก้นบุ๋ม แต่รุ่นแรกๆ รสชาติยังเปรี้ยวอยู่ ก็ต้องเอาเกสรสายพันธุ์หวานมาผสมจนติดผล แล้วก็เก็บผล
ที่ได้ไปทำการเพาะปลูกอีกครั้ง ใช้เวลารอคอยจนติดลูกแต่ละรุ่น ประมาณ4 ปี ในหนึ่งต้น รสชาติจะต้องเหมือนกันทุกผล หากไม่ได้ตามที่ต้องการก็ต้องตัดทิ้ง และหากรสชาติยังก้ำกึ่งก็จะให้เวลาอีก 1 ปี ถ้าได้ก็จะนำไปลงแปลงทดสอบ จนกว่าจะได้ผลผลิตดังที่ต้องการจึงจะนำไปส่งเสริมฟังแล้วรู้สึกถึงความยากลำบากในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การชิม ชิม ชิมชิมข้ามปีกันเลยนะนี่ เชื่อเลยแหละที่คุณเอบอกว่าชิมพี้ชมาไม่ต่ำกว่า 1,000 ลูกแล้ว

เมื่อไม่ได้อย่างต้องการก็ตัดทิ้งไป ทดลองใหม่อีก 4 ปี สำหรับพวกเราที่ไม่เข้าใจเรื่องวิจัยสงสัยว่า….ทำไมต้องตัดทิ้งแล้วไม่เสียดายหรือ….นักวิจัยตอบว่า….เพื่อไม่ให้สับสนกับการทดลอง ก็ต้องตัดทิ้งไป

เมื่อพวกเราอยากเห็นภาพพี้ชรุ่นแรกๆ นักวิจัยศิลปินร่างใหญ่ทำตาลอยแบบครุ่นคิดแล้วสั่นหน้า…ไม่ได้ถ่ายไว้เลย…ฟังแล้วผิดหวัง แปลกใจ…สมัยนี้แค่สั่งก๋วยเตี๋ยวธรรมด้าธรรมดา ยังถ่ายรูปอวดกันให้ว่อนไป

เลยตั้งคำถามไขข้อข้องใจว่า…เวลาทดลองแล้วได้ผลอย่างที่ตั้งใจรู้สึกอย่างไรบ้าง…คุณเอหัวเราะตอบได้ทันทีว่า…แรกๆ ก็ตื่นเต้นนะ แต่ตอนหลังๆ ก็เฉยๆ

…นั่นซิ…ถึงไม่นึกจะถ่ายรูปเก็บไว้ให้พวกเราดูบ้างเลยนะนี่…

เมื่อได้พันธุ์ที่สามารถปลูกในเมืองไทยได้แล้ว ก็ใช่ว่าการวิจัยพี้ชจะหยุดอยู่แค่นั้น ขณะนี้คุณเอก็ยังวิจัยสายพันธ์ุอื่นๆ ต่อไป เพราะธรรมชาติของตลาด ต้องการพันธุ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ นักวิจัยทั่วโลกก็ผสมพันธุ์พืชใหม่ๆเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้สถานีฯ อ่างขาง ผสมได้สายพันธ์ุใหม่แล้วอีกหนึ่งสายพันธุ์ แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ…เพราะไม่อยากใช้ชื่อแบบ
ฟังแล้วโบราณ…แล้วก็ไม่อยากใช้หมายเลขอีกด้วย

งั้นก็จะคอยติดตามชื่อพี้ชสายพันธุ์ใหม่ต่อไป แต่คงต้องคอยอีกสัก2-3 ปี กว่าสายพันธุ์จะนิ่ง แล้วเราค่อยซื้อมาชมและชิมตอนนั้นแล้วกัน

ในสถานีฯ อ่างขางนี้ เราได้เห็นแปลงพี้ชหลายๆ รูปแบบซึ่งพอจะรวบรวมตามความเข้าใจว่า แปลงวิจัยเหล่านี้เป็นแปลงทดสอบ
พี้ชตามที่ได้รับฟังมาว่า

            ระยะแรก เป็นแปลงทดสอบลูกผสมระยะชิด นำกล้าจากที่มีอายุ 8-10 เดือน จากโรงเรือนมาลงแปลงทดสอบจัดระยะต้นให้ถี่
ระยะที่ 2 คัดเลือกลูกผสมขั้นสูงครั้งแรก เมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี จะเริ่มติดดอกและติดผล ทำการประเมินลักษณะและคุณภาพผล
เป็นเวลา 2-3 ปี จากนั้นคัดเลือกต้นที่มีการเจริญเติบโตดี คุณภาพ ผลเด่น ผลผลิตสูงอย่างสม่ำเสมอทุกปี
ระยะที่ 3 คัดเลือกและทดสอบลูกผสมขั้นสูง ( ปีที่ 7-9 ) นำกิ่งของต้นลูกผสมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกไปเปลี่ยนยอดบนต้นใหญ่ในแปลงผลิตจำนวน 2-3 ต้นต่อรหัส ในพื้นที่สถานีฯ อ่างขาง (ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,400 เมตร) และ ศูนย์วิจัยหลวงขุนวาง (ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,260 เมตร ) เพื่อทดสอบและประเมินลักษณะของต้นลูกผสม
ระยะที่ 4 คัดเลือกลูกผสมรอบที่ 2 จากต้นที่เปลี่ยนยอด ลูกผสมที่ผ่านการคัดเลือกรอบนี้ จะปลูกทดสอบเชิงพาณิชย์จำนวน 10-20 ต้นต่อพันธ์ุ ต่อสถานี ที่สถานีฯ อ่างขาง และสถานีฯ อินทนนท์ (ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,200 เมตร)

            พี้ช ก็เหมือนพืชอื่นๆ มีสมาคมนักวิจัยพี้ชสากล มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเกสรกัน เพื่อหาพันธุ์พี้ชใหม่มาให้พวกเราได้ชิมลิ้มรส แต่น่าเสียดายที่มาช่วงนี้ไม่มีพี้ชเปรี้ยวหรือหวานให้ชิมเลยสักนิด ได้รับคำแนะนำพร้อมรอยยิ้มว่า คืนนี้ลองชิม “พี้ชลอยแก้ว” ที่สโมสรก่อนแล้วกัน แต่ก็เข้าใจแล้วว่า การวิจัยและทดลองพันธุ์พืชน่ะ เขาทดลองกันในแปลงของจริงเลย พวกเราถึงต้องฟังเลคเชอร์ไป เดินไปในแปลงพี้ชอยู่หลายแปลง แต่ก็นับเป็นห้องเลคเชอร์มีชีวิต ที่สร้างความสดชื่นให้พวกเรา ท่ามกลางต้นไม้ ใบหญ้าและขุนเขาสำหรับผู้สนใจอยากดูพี้ชระยะไหนลองศึกษาข้อมูลการแตกดอกออกผลของพี้ชใน 1 ปีตามรายการนี้ได้
            ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ใบจะเริ่มออกสีแดงๆ แล้วจะค่อยๆ ร่วงไปเอง
            ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะเหลือแต่กิ่งโชว์ให้เราเห็น แต่จะเริ่มมีตาดอกออกมาชัดเจน
            ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. เริ่มออกดอกให้เห็นเป็นสีชมพูคล้ายดอกซากุระ
            ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ก็จะกลายเป็นผลผลิตให้เราได้เก็บ
นอกจากแปลงวิจัยพี้ชแล้ว ยังมี แปลงกีวี แปลงพลับ แปลงบ๊วย แปลงแอบปริคอต แปลงสาลี่ ฯลฯ

ศูนย์พัฒนา
            สถานีเกษตรหลวงไม่ใช่มีแต่แปลงวิจัย แต่ยังมีอาคารผลผลิตไว้รับซื้อผลผลิตจากไร่ของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของโครงการหลวง อยู่ในการดูแลของสถานีฯ อ่างขาง ได้แก่ บ้านนอแล บ้านขอบด้ง บ้านปางม้า บ้านคุ้มและบ้านหลวง โดยแต่ละพื้นที่นั้นทางสถานีฯ อ่างขางจะจัดสรรการเพาะปลูกผลผลิตไปตามวิถีชีวิตของแต่ละชนเผ่า และตามแผนการตลาดของส่วนกลางที่ส่งมาให้สถานีฯ อ่างขาง

            อาคารผลผลิต อยูใกล้สโมสรนี่เอง บ่าย 3 โมงแล้ว เมื่อพวกเรามาพบคุณภัทรประภา ชัยสุวิรัตน์ (แป้ง) นักวิชาการงานคัดบรรจุยังไม่ทันแนะนำตัวเอง ก็ได้ตื่นเต้นกับล่อสามตัว ที่แบกตะกร้าใส่ผักมาตัวละ 2 ใบ โดยมีเจ้าของมันเดินจูงมา ไม่น่าเชื่อว่าในยุคเทคโนโลยีล้ำสมัยเรายังได้มีโอกาสเห็นการเดินทางแบบย้อนยุคเช่นนี้ สอบถามกันแบบต้องปรับเข้าหากันนิดหน่อย เข้าใจได้ว่ามาจากบ้านปางม้า เส้นทางที่ลงมาประมาณแค่ 2 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาชั่วโมงเต็ม เพราะทางชันรถยนต์ขึ้นไปไม่ได้ ฟังแล้วอยากตามล่อขึ้นเขาไป อยากเห็นวิถีชีวิตย้อนยุคที่บ้านปางม้า

            เสร็จภาระอันหนักหน่วง เจ้าล่อทั้งสามก็ได้รางวัลเป็นหญ้าสวยๆในสนามของสถานีฯ อ่างขาง ส่วนเจ้านายของมันก็จัดเรียงผักคะน้าสดใหม่ใส่ลัง “สีส้ม” ที่เจ้าหน้าที่วางไว้ให้ ด้วยท่าทางมีความสุขเพลิดเพลินกับท่าทางขะมักเขม้นจัดผักของชาวบ้านปางม้า สลับ
กับการถ่ายรูปล่อสามตัว พร้อมกับรับฟังข้อมูลจากคุณแป้ง ก็มีรถกระบะเข้ามาจอดอย่างรวดเร็ว มีชาวบ้าน 4-5 คน ลงจากรถรวดเร็วพอๆ กันพร้อมมีดบางๆ ในมือ ยกลังผักลง จัดการเฉือนก้านผักนอกๆ ออก เมื่อได้ผักที่ต้องการแล้ว เอาใส่ตะกร้า “สีเหลือง” ที่เจ้าหน้าที่นำมาเตรียมไว้ให้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ส่วนผักที่เด็ดทิ้งมากมายนั้น โยนลงตะกร้าใบใหญ่ที่ทางสถานีฯอ่างขาง เตรียมไว้ ผักนี้เอาไว้ทำปุ๋ยบ้าง ชาวบ้านเอาไปเลี้ยงสัตว์บ้าง

ท่ามกลางบรรยากาศที่ปะปนกันระหว่างการทำธุรกิจแบบเร่งด่วนของผู้มาใหม่ กับความเนิบช้าของคนปางม้า คุณแป้งให้ข้อมูลว่าเวลาทำการของอาคารผลผลิต เปิดช่วง 07.30 – 16.30 น. แต่ทุกๆ วันศุกร์จะไม่มีการรับผลผลิต จะเป็นวันทำความสะอาดใหญ่ของอาคารผลผลิต
แต่ละวันแบ่งการรับผลผลิตเป็น 2 ช่วงเวลา
        ช่วงเช้า จะรับประเภทอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมีกับผลผลิต) ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตประเภทผักและสมุนไพร จะมีการนำเข้าของผลผลิต 6 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีการปลูกที่เยอะกว่าแบบ GAP
        และช่วงบ่าย จะรับประเภท GAP (Good Agriculture Practices)ใช้ปุ๋ยและยาตามมาตรฐานของโครงการหลวงเท่านั้น และต้องผ่านการตรวจสอบว่าผลผลิตนั้นเมื่อนำมาส่ง สารเคมีได้เจือจางไปอยู่ในระดับปลอดภัยแล้ว

ชาวบ้านที่นำผลผลิตเข้ามาส่งที่อาคารผลผลิตนี้ คือ กลุ่มสมาชิกของโครงการหลวง ทั้ง 5 หมู่บ้านที่โครงการหลวงดูแลอยู่ ผลผลิตของชาวบ้านจะเป็นไปตามการจัดสรรของสถานีฯ อ่างขาง เพื่อให้ได้ผลผลิตส่งโครงการหลวง หรือผู้บริโภคได้ครบตามแผน ในกรณีที่เกิดปัญหาไม่สามารถส่งผลผลิตได้ตามกำหนด ก็จะต้องแจ้งไปยังศูนย์ต่างๆ เพื่อช่วยกันให้ได้ครบตามแผนประจำปี ทุกแปลงพืชไร่หรือไม้ผลจะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางออกไปเยี่ยมเยียนและสุ่มตรวจสอบเป็นระยะ ถ้ามีปัญหาก็จะมีเจ้าหน้าที่อารักขาพืชไปดูแล ตามระบบของโครงการหลวงมีขั้นตอนการสุ่มตรวจสอบอีกถึง 3 ขั้นตอนทั้งก่อน และหลังการรับผลผลิต

ขั้นตอนที่ 1 เจ้าหน้าที่จะออกไปสุ่มตรวจสอบการใช้สารเคมีจากแปลงปลูกของเกษตรกรก่อน ถ้าผ่านก็เก็บผลผลิตมาส่งได้
ขั้นตอนที่ 2 สุ่มตรวจสอบที่อาคารผลผลิตมีห้องแล็บในการทดสอบ
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อผลผลิตถูกส่งไปถึงศูนย์ผลผลิตเชียงใหม่ที่แม่เหียะที่นั่นจะสุ่มตรวจที่ห้องแล็บใหญ่อีกครั้ง

เมื่อทำความสะอาดผักจัดเรียงใส่ตะกร้าเรียบร้อยแล้ว ก็เอามาชั่งน้ำหนัก เจ้าหน้าที่จะบันทึกลงบัญชีไว้ให้เกษตรกร โดยหักน้ำหนักออกลังละ 2.5 กิโลกรัม เช่น ผัก 4 ลัง ชั่งได้ 40.80 กิโลกรัม เวลาบันทึกต้องหักน้ำหนักลังออก 4 ลังจำนวน 10 กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักผลผลิต30.80 กิโลกรัม ลงบันทึกไว้ในตารางรับผลผลิต พร้อมทำเอกสารรับผลผลิตให้เกษตรกรทุกครั้ง เกษตรกรสามารถนำมาตรวจสอบกับเอกสารที่ทางสถานีฯ อ่างขาง ติดประกาศไว้หน้าอาคารผลผลิต การจ่ายเงินจะรวม
จ่ายเป็นงวด งวดละ 1 สัปดาห์

ห้องคัดแยก
ชั่งน้ำหนักและลงบันทึกเรียบร้อยว่ารับซื้อแล้ว ก็นำเข้าห้องคัดแยกในห้องคัดแยก พนักงานต้องใส่เครื่องแบบพร้อม เพื่อความสะอาดและปลอดภัย และพวกเราก็ได้รับคำเตือนว่า เข้าไปในห้องแล้ว…ดูแต่ตา ถ่ายแต่ภาพ มือห้ามแตะนะคะ…

ได้เห็นการตัดแต่งผักอีกครั้ง อะไรกัน!!! ผักกาดฮ่องเต้ที่เราเห็นว่าสวยสดน่ากิน ขณะนี้พนักงานผู้ชำนาญการกำลังกำจัดใบงามๆ ออกไปอีกจนพอใจ แล้วก็เอาผ้าสะอาดเช็ดถูโดยเฉพาะส่วนโคน ให้ไม่มีเศษอะไรติดเป็นมลทิน แล้วบรรจุลงถุง…“ดี อร่อย” ดูเขามีความชำนาญในการคะเนว่า จะใส่กี่หัวให้ได้น้ำหนักที่ต้องการ

คุณแป้งบอกว่า น้ำหนักก่อนบรรจุลงถุงนี้จะเผื่อเอาไว้สำหรับการเดินทาง เมื่อถึงผู้บริโภคน้ำในผักจะหายไปบางส่วน นอกจากจัดใส่ถุงพร้อมขาย ก็มีการจัดใส่ลังส่งตามเอกสารสั่งซื้อที่ได้รับจากส่วนกลางสำหรับผลิตผลอินทรีย์จะใช้กับถุงบรรจุที่มีเครื่องหมายของ ออร์แกนิค (ORGANIC) เท่านั้น

การบรรจุผลผลิตลงถุงหรือลังนั้น จะทำของแต่ละเกษตรกรให้เสร็จเป็นชุดๆ ไป เพราะในการบรรจุทุกถุงหรือลังจะมีสติ๊กเกอร์ที่ทำให้เรารู้ว่า ผลผลิตนั้นส่งมาจากสถานีฯ หรือศูนย์ฯ ไหน และมาจากแปลงพืชไร่ของเกษตรกรรายใดผลผลิตจะส่งไปที่ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวงเชียงใหม่ที่แม่เหียะ และจะสุ่มตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนส่งให้ผู้บริโภคต่อไปหลังคัดบรรจุเสร็จจะต้องทำความสะอาดพื้นที่ทำงานให้สะอาด ก่อนที่ผลผลิตในรอบต่อไปจะเข้ามา เพื่อลดการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ

ลังหลายๆ สีที่เราเห็นในห้องนั้น คือ ลังใส่ผลผลิตที่โครงการหลวงจะแยกสีลังไว้ตามประเภทของผลผลิต คือ
สีเหลือง สำหรับใส่ผักอินทรีย์ (ORGANIC)สีส้ม สำหรับใส่ผักปลอดสารพิษ( GAP )
สีเขียวอ่อน สำหรับใส่ผักอินทรีย์แต่ส่งให้ MK
สีเขียว สำหรับใส่ไม้ผล
สีน้ำเงิน สำหรับใส่ผักอินทรีย์ ส่งให้เฉพาะ บ.พงษ์เทพ ของสิงคโปร์ หลักๆ เป็นเห็ดและผัก
สีดำ สำหรับใส่ผลผลิตจากในฟาร์ม ในสวน ในแปลงของเกษตรกร
เพื่อนำส่งเข้ามาเปลี่ยนเป็นลัง ตามชนิดพืชผล จะไม่นำเข้ามาในส่วนของการคัดแยกที่อาคารผลผลิต

จากนั้นก็ไปที่ ห้องแพ็คผลไม้ อยู่ติดกับอาคารผลผลิตนี่เอง ในห้องเล็กๆ เข้าไปถึง เจ้าหน้าที่กำลังแพ็คลูกกีวี พันธุ์สีเหลือง ไม่ค่อยมีขนดูเหมือนละมุดมากกว่า

ในนี้มีพลับด้วย พลับพันธุ์ Fuyu ที่พวกเรารู้จักและ อีกพันธ์ุชื่อ Hyakume ออกเสียงยากนิดหน่อย สู้เรียกพันธุ์ช็อกโกแลตไม่ได้ แต่ดูแล้วเหมือนพลับนี้เป็นโรค คือ ผิวมีลายสีน้ำตาลเป็นเส้นริ้วๆ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่ายิ่งไม่สวยนี่แหละยิ่งอร่อย อ๊ะ…เป็นไปได้ไง ใครจะเชื่อ ก็เลยได้ลองชิมเนื้อสีน้ำตาลเหมือนผลไม้เสียแล้ว อืม…หวานกรอบ อร่อยจริงๆแต่มันไม่เป็นเช่นนั้นทุกลูก ด้วยเหตุผลของสายพันธุ์มันเป็นพลับพันธุ์ฝาดที่มีโอกาสหวาน ถ้าเกสรผสมกันแล้วได้เมล็ดข้างในหลายๆ เมล็ดเมื่อแก่ดูเหมือนเมล็ดทั้งหลายจะช่วยกันขับไล่ความฝาดไป แล้วเนื้อในก็จะเป็นสีน้ำตาลแบบละมุด แต่ยังคงกรอบและหวานฉ่ำชื่นใจ ตามที่พวกเราได้มีโอกาสชิม

20 กันยายน 2560
เช้าที่แปลงชา 2000
หลังจากที่รีบตื่นมาไล่ล่าตามหาลานกางเต็นท์ม่อนสน จนได้ชมทะเลหมอกสมใจ ก็หวังไปเจอหมอกอีกครั้งที่ไร่ชา 2000 ตามคำแนะนำของเจ้าถิ่น คุณตรี ประชาสัมพันธ์ชั้นเยี่ยมของสถานีฯ อ่างขาง ไม่ผิดหวังที่ได้ไปชม

แม้ไปไม่ทันหมอก แต่อากาศสดชื่น ทิวทัศน์ของเนินเขากับแถวยาวๆ เป็นระเบียบของต้นชา ทำให้พวกเราอ้อยอิ่งขึ้นลงหามุมงาม
ถ่ายภาพกันจนเริ่มหิวอาหารเช้าจึงยอมกลับ

ไร่ชา 2000 เป็นชาอินทรีย์ ผลิตส่งเฉพาะแอมเวย์เท่านั้น เพราะค่าใช้จ่ายสูง เป็นสินค้าที่ตรงกับแนวทางการค้าของแอมเวย์ แต่ก่อน
โรงผลิตชาตั้งอยู่ในสถานีฯ อ่างขาง เป็นที่ให้คนมาศึกษาดูงานได้ แต่เมื่อทำชาอินทรีย์ส่งแอมเวย์ปริมาณมาก และการขนส่งชาอินทรีย์เข้ามาไม่สะดวก จึงสร้างโรงงานผลิตไว้ในไร่ชาเลย เมื่อเก็บแล้วก็เอาเข้าโรงงานและการผลิตชาอินทรีย์ก็ทำให้ไม่สะดวกที่จะเปิดให้ใครๆ เข้าไปในโรงงาน

การเก็บใบชาของชาวบ้านที่นี่จะไม่เก็บ 3 ใบเหมือนที่อื่น ชาวบ้านคุ้นชินมาแต่เดิมในการเก็บใบชาทีละ 4 ใบ ทางสถานีฯ อ่างขาง ก็อนุโลมให้ และต้องจัดพนักงานมาเด็ดให้ได้ตามมาตรฐานชา ที่ต้องจัดส่งให้กับทางแอมเวย์อีกครั้ง

ที่แปลงพืชผักอินทรีย์ของบ้านนอแล
หลังอาหารเช้าได้เจอคุณตรีอีกครั้ง พาพวกเราไปบ้านนอแล หุบเขานี้อยู่ติดชายแดนพม่า เราคงเข้าไปส่วนบนที่เรียกขอบด้ง จึงมองเห็นหมู่บ้านและไร่ผักไล่ลงไปในหุบเขาเป็นแอ่งกระทะ เหนือไร่เป็นหมู่บ้านถัดไปเป็นยอดเขาเห็นค่ายทหารพม่า อีกฝั่งเป็นหน้าผามองไปไกลได้ถึงแม่อาย เห็นพระเจดีย์แก้ววัดท่าตอนแวววับอยู่ไกลๆ เห็นแม่น้ำกกเลื้อยไปในที่ราบแล้วจางหายไปในเส้นขอบ

บ้านนอแลอยู่ติดชายแดนเขตพม่า แต่ก่อนมีการรบพุ่งกันบ่อยๆ มีการอพยพของชนกลุ่มน้อยหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2527 ชนเผ่าปะล่องนำโดยนายนาโม มันเฮิง ได้เข้ามาถวายฏีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งมาทรงงานที่สถานีฯ อ่างขาง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้ชนเผ่าปะหล่องอาศัยอยู่ที่บ้านนอแล ได้จัดสรรพื้นที่ในบริเวณนี้ให้เป็นที่ทำกิน และรับเป็นสมาชิกโครงการหลวง

ปัจจุบันบ้านนอแลมีประชากรประมาณ 153 ครัวเรือน พื้นที่ทำกิน 153 ไร่ แบ่งเป็นแปลงละ 1 ไร่ต่อ 1 ครอบครัว ทำแปลงขั้นบันไดให้สามารถสร้างเป็นโรงเรือนคลุมพลาสติกสีขาว ขนาดมาตรฐานที่สถานีฯ อ่างขาง ใช้ในการปลูกพืชผัก การปลูกพืชผักในโรงเรือนทำให้สามารถควบคุมได้ทั้งการปนเปื้อน การให้น้ำและแสงแดดในหน้าร้อนที่อาจแรงเกินไปสำหรับพืชผัก ทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชอีกด้วย

ที่บ้านนอแลได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชอินทรีย์ ผักที่ส่งเสริม ได้แก่ คอส, บัตเตอร์เฮด, เบบี้คอส, ผักกาดหอมใบแดง, ผักกาดหอมห่อ, เรดคอรัล, โอ๊คลีฟเขียว, โอ๊คลีฟแดง เป็นต้น

การปลูกพืชอินทรีย์ นอกจากในหมู่บ้านจะต้องไม่มีการใช้สารเคมีแล้ว บริเวณใกล้เคียงก็ต้องไม่มีสารเคมีปลิวมาปนเปื้อน ดังนั้นการรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ และอยู่ห่างไกลจากไร่อื่นๆ เช่น พื้นที่หุบเขากว้าง แต่ไม่ใหญ่นักของบ้านนอแลนี้ จึงเหมาะแก่การปลูกพืชอินทรีย์ที่ทางสถานีฯ อ่างขางส่งเสริมให้ปลูกนอกจากการปลูกพืชผักอินทรีย์แล้ว ยังมีเรือนเพาะพันธุ์กล้า ซึ่งชาวบ้านที่ต้องการรายได้เพิ่มก็จะรับจ้างปลูกกล้าไว้ให้สถานีฯ อ่างขาง ขายให้กับเกษตรกรในหมู่บ้าน การผลิตกล้าพืชผักหรือพืชผลของสมาชิก สามารถเตรียมตัวได้จากตารางที่ขึ้นกระดานไว้ให้เป็นไตรมาสตามแผนการซื้อจากส่วนกลาง มีการจัดสรรชนิดพืชผักที่จะปลูกให้แต่ละกลุ่มอีกครั้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตตามแผนและเฉลี่ยรายได้ให้ทั่วถึง

นอกจากการปลูกพืชผักอินทรีย์ตามโควตาที่ได้รับแล้ว พื้นที่ตามซอกมุมที่เหลือเราได้พบพืชพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นพืชสมุนไพรแทรกอยู่ทั่วไป เช่น

ปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า มีสารต้านความเมื่อยล้า เป็นไม้หัวใต้ดินมีเพียง1 ใบ เมื่อเด็ดไปแล้วจึงแตกใบใหม่ ค่อนข้างหวงพันธุ์ ระยะการเติบโตใช้เวลา 3 – 4 ปีต่อ 1 ต้น
เจียวกู่หลาน ป้องกันโรคความดัน (เป็นความดันต่ำไม่ควรทาน) เป็นไม้เถาปลูก 4 – 6 เดือน ก็สามารถเก็บขายได้ทั้งเถาเลย ปลูกให้เลื้อยคลุมสแลนที่คลุมปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า เป็นการใช้พื้นที่อย่างเอื้อประโยชน์กัน
มะเขือเทศต้น พันธุ์แทมมาโรโร่ ใช้ทำน้ำมะเขือเทศ
ต้นดอกไม้จีน ดอกสีส้มๆ ตากแห้งใส่ในต้มจืด
หญ้าอิบูแคร์ เป็นต้นหญ้าที่อดีตเคยมีชาวบ้านนำไปทำเป็นกำไรข้อมือผูกให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙

ที่บ้านขอบด้ง
หมู่บ้านมูเซอร์ดำและมูเซอร์แดง แปลงพืชไร่นอกโรงเรือน ที่นี่กำลังเตรียมแปลงสำหรับสตรอว์เบอร์รี่ ที่กำลังจะถึงฤดูกาลทานสตรอว์เบอร์รี่ของนักท่องเที่ยวทั้งประเทศแล้วที่บ้านขอบด้งนี่เอง ที่เราได้เห็นพื้นที่ที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯผ่านมาด้วยม้าและประทับหยุดพักบนยอดเนิน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นั้นยังคงอยู่ เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านขอบด้งดูแลรักษาด้วยการปล่อย
ให้เป็นเนินหญ้าวงกลมเห็นเด่นชัด มีม้าหินตั้งอยู่ตรงกลาง

ภาพที่เห็นตรงหน้าสร้างความรู้สึกที่แตกต่างระหว่างชาวบ้าน 2หมู่บ้าน บ้านนอแลเรารู้สึกถึงความเป็นอยู่ ที่อยู่ในระบบค่อนข้างชัดเจน แต่ที่บ้านขอบด้งรู้สึกถึงความอิสระของชาวบ้าน อาจเป็นด้วยแปลงไร่ที่เปิดโล่งจนเห็นแต่ดินสีแดง ดูยังเป็นไร่ในอดีตที่เราคุ้นเคย

แปลงพืชไร่ดูกว้างใหญ่ ทำให้สงสัยว่าแล้วแหล่งน้ำมาจากไหน

คุณตรีบอกว่า ในอ่างขางมีสายน้ำสำคัญอยู่ 4 สาย คือ ห้วยแห้ง ห้วยซ่าน ห้วยอ่างขาง และห้วยแม่เผอะ เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำในลำห้วยสาขาต่างๆ จะไหลลงสู่ฝายที่กั้นไว้ แล้วสูบขึ้นเก็บในอ่างที่มีอยู่ในอ่างขางทั้งหมด 4 จุด จากนั้นจึงปล่อยลงไปตามหมู่บ้านเพื่อใช้งาน ส่วนที่ไหลล้นจากฝายจะไหลลงสู่หลุมยุบ (Sink hole) ที่มีอยู่หลายแห่งซึ่งน้ำจะหายลงไปใต้ดินหมด ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และไม่สามารถสร้างฝายกักเก็บได้ตลอดลำห้วย จากปัญหาดังกล่าวกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้สำรวจพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ของแหล่งน้ำบาดาลที่จะนำมาใช้ทดแทนและสำรองน้ำเก็บไว้ใช้ต่อไป

แปลงสตรอว์เบอร์รี่ติดชายแดน
แปลงสตรอว์เบอร์รี่…รักในหลวงสุดดวงใจ…แค่ได้เห็นป้ายก็รู้สึกว่าแปลงสตรอว์เบอร์รี่นี้สวยงามน่าประทับใจแล้วล่ะ ไม่น่าเชื่อว่าเราจะอยู่ชิดติดชายแดนพม่ามากขนาดนี้ ชาวปะหล่องเจ้าของสวนสตรอว์เบอร์รี่ 1 ไร่ เดินมาเปิดประตูไร่ให้พวกเราอย่างใจดี ทั้งยังอยู่ด้วยช่วยบอกเล่าเรื่องราวของสตรอว์เบอร์รี่จนพวกเรากลับ วันนี้ไปไร่ไหนๆ ก็ไม่ค่อยพบใคร เพราะเป็นวันที่ชาวปะหล่องไปวัด

ที่นี่มีไร่สตรอว์เบอร์รี่และโรงเรือนปลูกกุหลาบ พวกเราเดินไปไม่ถึงโรงเรือนกุหลาบ ได้แต่ชื่นชมแปลงสตอว์เบอร์รี่บนไหล่เขา เดินไม่ดีสะดุดเท้าตัวเองอาจหน้าคะมำกลิ้งลงไปตามไหล่เขา สิ้นสุดตรงไหนก็ยังไม่รู้เลยเดินดูไปชักอยากให้มีลูกแดงๆ ให้ได้ชมและชิมบ้างจัง แต่สตรอว์เบอร์รี่นี่เขาต้องใช้สารเคมีนะ จะชิมในไร่ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่ไร่ก็ได้ข้อมูลของสตรอว์เบอร์รี่มานิดหน่อย อาจเป็นเพราะเราสะสมข้อมูลกันมาตั้งแต่เมื่อวาน ถึงตอนนี้คงไม่มีพื้นที่เก็บแล้ว แต่ละคนจึงเดินห่างกันไป ต่างคนต่างหามุมถูกใจถ่ายภาพ ได้ยินว่าไร่นี้ก็อยู่ในความดูแลของสถานีฯ อ่างขางได้รับที่ดินไว้ปลูกพืชผักส่งโครงการหลวง ครอบครัวละ 1 ไร่ เช่นกัน ช่วง
นี้ก็เตรียมปลูกสตรอว์เบอร์รี่จะใช้เวลา 2 เดือน เมื่อมีใบออกมา 8 ช่อ ก็จะเริ่มมีดอกออกมา หลังจากเป็นดอกประมาณ 25 – 30 วัน ก็จะกลายเป็นลูก หนึ่งต้นจะเก็บลูกไว้เพียง 6 ลูก เพื่อให้ได้ลูกที่โตขายได้ราคาที่ดีขยายพันธุ์โดย “ไหล” ซึ่งในหนึ่งต้นนั้นจะมีไหลอยู่ประมาณ 5 – 8 ไหล

ได้ยินคำว่าไหลก็ไม่เข้าใจ เห็นถุงดำใส่ต้นสตรอว์เบอร์รี่เล็กๆ วางแทรกตามต้นที่ปลูกไว้ก็สงสัย เพิ่งรู้ว่า 2 เรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน

สตรอว์เบอร์รี่จะทอดตัวเลื้อยไปตามพื้นดิน แล้วจะมีรากและต้นอ่อนงอกออกมาตามข้อ เรียกว่าการขยายพันธุ์โดย “ไหล” ผู้ปลูกจะเอาต้นอ่อนใส่ถุงดำเลี้ยงไว้ใกล้ต้นแม่จนแข็งแรงแล้ว ก็จะตัดไหลแล้วนำต้นอ่อนไปปลูกในแปลงใหม่

สตรอว์เบอร์รี่ก็เหมือนพืชผลทุกชนิดที่ต้องคอยวิจัยหาพันธุ์ใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะพันธุ์เดิมเมื่อปลูกไปสักพักก็จะเริ่มมีปัญหาสู้โรคไม่ไหว ต้องพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมา ให้แข็งแรงแข่งกับโรคต่างๆ ได้ ทั้งยังปรับปรุงพันธุ์ นำจุดเด่นของพันธุ์ใหม่มาลดจุดด้อยของพันธุ์เก่า ขณะเดียวกันเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลับมาสนใจอีกครั้ง

สวนกีวี่ที่บ้านหลวง
ได้ไปดูสวนกีวี่ของชาวจีนยูนนานที่บ้านหลวง เดิมทีเป็นบ้านที่ปลูกพืชผลส่งโครงการหลวง จากบ้านเล็กๆ ตอนนี้กลายเป็นบ้านตึกหลังใหญ่ จากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นชีวิตคงเปลี่ยนไป สวนกีวีที่เคยมีพื้นที่มากมายเหลือเพียงไม่ถึงไร่ แต่เราก็ได้เจอลูกกีวีบนต้นกีวีจริงๆ

เรื่องราวของกีวี่เกิดขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว เมื่อมิชชันนารีชาวนิวซีแลนด์เดินทางกลับมาจากประเทศจีน และได้นำผล “ไชนิส กูสเบอร์รี่” (Chinese gooseberries) กลับมาด้วย ด้วยสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ และอากาศที่เอื้ออำนวย ผลไม้ชนิดนี้จึงมีรสชาติดีขึ้น

ปี พ.ศ.2502 พวกเขาจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “กีวี่ฟรุต” (Kiwifruit) ตามชื่อนกกีวี่ที่เป็นนกสัญลักษณ์ของประเทศนิวซีแลนด์ในปี พ.ศ.2519 โครงการหลวงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำพันธุ์กีวี่ฟรุตจากประเทศนิวซีแลนด์เข้ามาปลูกครั้งแรก ที่สถานีฯ อ่างขาง และพบว่ากีวี่ฟรุตบางพันธุ์ออกดอกและติดผลได้ดี แต่เนื่องจากพันธุ์กีวี่ฟรุตที่นำมาปลูกส่วนใหญ่เป็นชนิดต้องการอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น ผลผลิตกีวี่ฟรุตของโครงการหลวงที่มีจำหน่ายจึงน้อยมาก ปัจจุบันโครงการหลวงได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์กีวี่ฟรุตได้สายพันธุ์ใหม่ๆที่สามารถปลูกได้ดีในสภาพอากาศที่ไม่หนาวเย็นนัก กีวี่ฟรุตจึงนับว่าเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพดีชนิดหนึ่งในอนาคต



ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
จัดพื้นที่ไว้เป็นเสมือนสวนพันธุ์ไม้กึ่งวิจัยและกึ่งท่องเที่ยว เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ถ่ายภาพกับดอกไม้งามก็มีให้เลือกมากมาย อยากศึกษาหาความรู้เรื่องพันธุ์ไม้เมืองหนาวก็มีเรื่องราวให้ความรู้ อยากเดินเล่นยามเย็นก็มีบ้านพักไว้เลือกพักหลายแบบ อยากชิมอาหารทานผักสดๆ ก็มีร้านอาหารไว้บริการ อยากซื้อของกลับไปฝากใครก็มีร้านค้า ที่มีทั้งของกินอร่อยและกินเพื่อสุขภาพ
หรือสินค้าหัตถกรรมบ่งบอกวิถีชีวิตชาวไทยภูเขาน่ารักๆ ไว้ให้ได้เลือกซื้อ

สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำแม่เผอะ
ทุกครั้งที่มาสถานีเกษตรหลวงอ่างขางจะเห็นป้ายสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำแม่เผอะ ติดตั้งอยู่ตรงทางแยกก่อนถึงทางเข้าสถานีฯอ่างขาง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นสถานที่ที่เราเข้าไปได้หรือไม่ แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจเรื่องราวของโครงการหลวงมาหลายแห่งแล้ว ทำให้มั่นใจว่าทุกแห่งที่มีสถานีฯ หรือศูนย์พัฒนาฯ ของโครงการหลวงก็จะมีเรื่องราวของป่าไม้ เกษตรพื้นที่สูง และการอนุรักษ์ต้นน้ำอยู่คู่กันเสมอ เราจึงตั้งใจจะไปขอข้อมูลเรื่องของต้นน้ำลำธาร ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 40 ปีก่อน พร้อมกับการเกิดโครงการหลวงอย่างไรบ้าง แต่ไม่พบเจ้าหน้าที่แม่บ้านที่ทำความสะอาดบ้านพักบอกว่าเจ้าหน้าที่ออกไปช่วยกันทำฝายที่บ้านหลวงกัน ตอนบ่ายถึงจะเข้ามา เลยขออนุญาตถ่ายรูปแล้วกัน

เพิ่งรู้ว่าข้างในนี้มีบ้านพักด้วย บรรยากาศเงียบสงบดีมากๆ เลย เมื่อคืนเราน่าจะมาขอพักที่นี่นะ จะได้ฟังเสียงนก ที่มีป้ายบอกไว้ข้างบ้านหลังเล็กๆ ระเบียงน่ารักบนเนินสูง ได้ยินเสียงนกหลายชนิดแต่ไม่เห็นตัว มีเส้นทางให้เดินลงไปในหุบนั้น แต่ชันจนไม่กล้าลง พวกเราตั้งใจมาดูเรื่องต้นน้ำลำธาร เลยลัดเลาะหาลำธารตามแนวดงกล้วยไป ลึกเข้าไปมีที่ทำงานเจ้าหน้าที่ ดูเข้ากับบรรยากาศป่าดีจัง ชอบไผ่ลำใหญ่ และกอใหญ่ข้างออฟฟิต เดินต่อเข้าไปในหุบฟังเสียงนก ได้เห็นตัวอย่างการทำฝายเลยถ่ายรูปเก็บไว้ กลับออกมาเจอท่านหัวหน้ากลับเข้ามาพอดีได้มีโอกาสพูดคุยกันนิดหน่อย เพราะหัวหน้าต้องกลับไปดูการทำฝายต่อและเราก็ต้องลงจากเขาแล้ว

จากสภาพทั่วไปของอ่างขาง หรือป่าเขาของเชียงใหม่ที่สมบูรณ์ในปัจจุบันนี้ ย่อมบ่งบอกว่าการปฏิบัติงานของหน่วยรักษาต้นน้ำประสบผลสำเร็จเท่าๆ กับมูลนิธิโครงการหลวงประสบผลสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง และจากการได้พบ หัวหน้าสุวิทย์แสงศรีจันทร์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะ ที่ยังเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ของวิชาชีพที่เรียนมา ทำให้มั่นใจว่าสภาพต้นน้ำลำธารที่เราเห็นว่าชุ่มชื้นสวยงามนี้ จะยั่งยืนและมั่นคงต่อไป

การจัดการต้นน้ำลำธารในประเทศไทย

การจัดการต้นน้ำลำธารในประเทศไทย เป็นการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นจัดการปัจจัยหลัก ได้แก่ดิน น้ำ และป่าไม้ และอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ การจัดการมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำให้ทรัพยากรต้นน้ำเสื่อมโทรมลง วัตถุประสงค์ของการจัดการต้นน้ำ เพื่อให้น้ำมีคุณภาพตรงตามความต้องการต่อการใช้ประ-โยชน์ในแต่ละประเภท มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และมีระยะเวลากรไหลที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปในฤดูฝนและไม่น้อยเกินในฤดูแล้ง
………………………
พ.ศ. 2519 กรมป่าไม้ได้จัดตั้งหน่วยงาน โครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำ ในสังกัดกองอนุรักษ์ต้นน้ำ เพื่อดำเนินการปลูกป่า
ปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำลำธาร และได้ร่วมกับโครงการหลวงพัฒนาชาวเขา ในการจัดตั้งหมู่บ้านชาวเขา การพัฒนาอาชีพ และ
พัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอย แก้ไขปัญหาวามขัดแย้งในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

พ.ศ. 2535 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมป่าไม้ ปรับเปลี่ยนชื่อ กองอนุรักษ์ต้นน้ำเป็นส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ ภายใต้สังกัด
สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกรมป่าไม้ มีหน้าที่ในการสำรวจวิเคราะห์สภาพพื้นที่ต้นน้ำลำธาร วางแผนจัดการ วางแผนการใช้ที่ดินสาธิตและส่งเสริมการทำการเกษตรพื้นที่สูง จัดระเบียบชุมชน ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวทางของการอนุรักษ์และพัฒนาต้นน้ำลำธารมาอย่างต่อเนื่อง ทรง
เป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานในถิ่นกันดารห่างไกลยากที่ใครจะเข้าถึง
………………………….
ดังกระแสพระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรแผนที่เขตปฏิบัติงานของโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำหน่ายที่ 10 (แม่เผอะ)
ความว่า….การปลูกป่าทดแทนในสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ส่วนใหญ่จะได้ผลไม่เต็มที่ และกล้าไม้บางส่วนจะเฉาตาย โดยเฉพาะ
บริเวณสันเขา เนื่องจากมีความแห้งแล้งมาก เพราะฉะนั้นจึงควรย้ายกล้าไม้ส่วนที่คิดว่าจะเสียเปล่า ไปปลูกขนานไปตามแนวร่องน้ำ
ทั้งสองข้าง โดยสร้างฝายเล็กๆ กั้นน้ำไว้เป็นระยะๆ พร้อมทั้งต่อท่อไม้ไผ่จากลำน้ำเพื่อไปรดตามแนวกล้าไม้ให้ได้รับความชุ่มชื้น ต่อไปต้นไม้ก็จะขึ้นคลุมแนวร่องน้ำ อันจะทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ แผ่
ขยายออกไป และปริมาณน้ำก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ควรทำ
โครงการดังกล่าวเพื่อเป็นการสาธิตที่หน่วยต้นน้ำด้วย….

คัดลอกบางส่วนจาก…หยาดหยดจากฟากฟ้า สู่ผืนป่าต้นน้ำลำธารไทย
ของสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๙

หมู่บ้านหัตถกรรมชาวปะหล่อง
มาถึงอ่างขางแล้วไปไม่ถึงสุดเขตประเทศไทย ก็เหมือนไปไม่ถึงอ่างขาง บ้านปะหล่องนอแลมีประวัติเขียนไว้ที่ผนังบ้านศูนย์กลางหมู่บ้านเขียนไว้ว่า ประวัติย่อบ้านนอแล ปี 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ มาที่โครงการหลวง นายนาโม มันเฮิง ได้เข้าเฝ้าและได้ถวายพระ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ท่านได้ตรัสถามว่าบ้านอยู่ที่ไหน นายนาโมตอบว่า บ้านอยู่ปาคี ในหลวงได้ดูในแผนที่แล้วบ้านปาคีอยู่ในเขตพม่า ในหลวงได้กาบนแผนที่โดยให้อยู่บ้านปะหล่อง (บ้านนอแล) บ้านนี้ปัจจุบันเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา ฝั่งตรงข้ามเป็นถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ เขียนภาพโครงการของในหลวง รัชกาลที่ ๙ และพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยฝีมือง่ายๆ แต่บอกเล่าเรื่องราวได้กระจ่างชัด

หมู่บ้านบนสันเขานี้ ถ้าเราเดินตามถนนก็ได้เห็นหน้าบ้านทุกหลังติดกันไป ไม่รู้ว่าข้างหลังบ้านทุกหลังที่กลายเป็นที่อยู่ของหมูนั้น มีธรรมชาติอันงดงามถูกบดบังอยู่ ชาวปะหล่องที่นี่ก็คือเจ้าของโรงเรือนพืชผักที่เราไปดูเมื่อวาน คนหนุ่มคนสาวเข้าไปทำงานในไร่ ส่วนคนเฒ่าคนแก่เย็บผ้ามาแขวนขายตามแผงที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาจับจ่าย น่าเสียดายตรงที่ตลาดนี้แทบจะหาเสื้อผ้าที่ทอด้วยมือไม่ได้เลย แต่ด้วยบรรยากาศน่ารักน่าเอ็นดูของผู้เฒ่ากับเด็กน้อย ทำให้พวกเราเหมือนต้องมนต์ซื้อเสื้อฝีมือเย็บของชาวปะหล่อง แต่ผ้านั้นก็มาจากโรงงานกลับไปคนละตัว

สุดเขตแดนไทยที่อ่างขาง
ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัดชาวปะหล่อง มีห้องเรียนเคลื่อนที่ โดยเจ้าหน้าที่จากสถานีฯ อ่างขางทำหน้าที่สอนประจำอยู่ที่โรงเรียนบ้านขอบด้งไปสอนเป็นครั้งคราว แต่ในปี พ.ศ. 2528-2530 เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งและมีการต่อสู้รุนแรงระหว่าง ขุนส่า ว้า ไทยใหญ่ และพม่า โดยกลุ่มว้าตั้งฐานอยู่ที่บริเวณวัดปะหล่อง พม่ายึดพื้นที่ได้ และชักธงพม่าขึ้นคู่ธงชาติไทย ทหารไทยซึ่งปฏิบัติการอยู่ที่ขอบด้ง จึงไปเจรจากับทหารพม่าจนเป็นที่เข้าใจกัน ทหารพม่าจึงได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่วัดปะหล่อง บริเวณนี้จึงถูกจัดตั้งเป็น… “ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล”…มาจนถึงทุกวันนี้

ถัดจากตลาดหัตถกรรมบ้านนอแลไปก็ถึงเขตปฏิบัติการบ้านนอแลในที่สุดพวกเราก็ได้มายืนชิดติดเขตแดนไทย-เมียนมา ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่เล็กๆ ที่ดูสงบทั้งสองฝั่งนั้นจะเคยเป็นแดนที่ร้อนระอุ มีเพียงแนวรั้วลวดหนามและไม้ไผ่หนาม ทำให้เรารู้ว่า ก้าวไปเกินกว่านี้ไม่ได้ ไม่น่าเชื่อว่าดงสนที่เห็นอยู่ฝั่งเมียนมา จะเป็นดงเดียวกับสนสามต้นทางฝั่งไทย ไม่น่าเชื่อว่าหญ้าทุกต้นในเขตรั้วไทยจะใช่หญ้าพันธุ์เดียวกันกับฝั่งเมียนมา ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนที่ดูไม่แตกต่างกันจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ใครกันนะที่สร้างกฏเกณฑ์ปันเขตแดน เพื่อสร้างความหวงแหนแล้วทำลายล้างกันและกันแต่เราก็ดีใจเมื่อได้ฟังทหารผู้พิทักษ์รักษาชายแดน เล่าด้วยน้ำเสียงสดชื่นว่า “อยู่อย่างนี้ก็ได้เจอกัน เมื่อไม่กี่วันยังเข้าไปแข่งฟุตบอลเชื่อมสัมพันธ์กันเลยครับ”

ลานกางเต็นท์ม่อนสน อยากฟินกับสายลม อยากห่มผ้าหนาๆ อยากตื่นขึ้นมาชมพระอาทิตย์ หรืออยากใกล้ชิดทะเลหมอกก็
ต้องเลือกมานอนที่ ลานกางเต็นท์ม่อนสน ยามเช้าปลายฝนต้นหนาวที่พวกเรามา หมอกลงหนาหลังคืนฝนตกและอีกเช้าช่วงต้นหนาวเข้าเดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิยังไม่ต่ำนัก แค่ 13 องศาเซลเซียส แต่ก็หนาวยะเยือกเพราะลมกรรโชกเป็นระยะ กลัวว่าถ้าแรงกว่านั้นอีกสักนิดเราคงปลิดปลิวไปพร้อมเต็นท์เป็นแน่

ทริปนี้ของพวกเรา จบลงด้วยความประทับใจที่ม่อนสน ความงามที่มนุษย์สร้างไม่ได้ แต่รักษาได้ด้วยความรักและเข้าใจ

ขอขอบคุณ…
คุณมณพัฒ ยานนท์ (พี่ตรี)
นักประชาสัมพันธ์สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
คุณณัฐทวี มาบางครุ (พี่เอ) นักวิชาการพีช
คุณภัทรประภา ชัยสุวิรัตน์ (แป้ง) นักวิชาการงานคัดบรรจุ
คุณสุวิทย์ แสงศรีจันทร์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะ

เรื่องราวและภาพจาก…
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ที่อยู่ : หมู่ 5 บ้านคุ้ม ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง
จังหวัดเชียงใหม่ 50320
เบอร์โทรศัพท์ : 0 5396 9476-8 ต่อ 114
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสถานีฯอ่างขาง
โทรศัพท์ 0 5396 9489, โทรสาร 0 5396 9475[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".