[:TH]ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “ทุ่งหลวง” (มะเขือเทศแฟนตาซี)[:]

[:TH]

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 ในเขตหมู่บ้านห้วยตอง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านพืช ได้แก่ ไม้ผล ไม้ดอก และผักเป็นลำดับแรก ต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านการเลี้ยงสัตว์ จนสามารถดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป ปัจจุบันศูนย์ฯ ทุ่งหลวง มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน1,460.50 ไร่ ครอบคลุม 12 หมู่บ้าน ประชากรที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจำนวน 952 ครัวเรือน 4,477 คน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และเผ่าม้ง นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และบางส่วนยังนับถือผีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
960-1,200 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 7 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,400 มิลลิเมตร

2 ตุลาคม 2560
ถึงจะเป็นเส้นทางที่เคยมาหลายครั้งแล้ว แต่เรายังไม่เคยไปถึงทุ่งหลวง ทุกครั้งที่จะได้เดินทางขึ้นเขาหัวใจเราจะเป็นสุข ออกจากถนนเลียบคลองชลฯ เข้าถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดงไปแม่วาง ออกจากแม่วาง เส้นทางเริ่มขึ้นเขา เข้าสู่ป่า สองข้างทางเป็นต้นไม้สูงโปร่ง บางช่วงเห็นสายน้ำแม่วาง แทบไม่มีรถใครวิ่งตามหรือสวนมาเลย จนชักไม่แน่ใจมาถูกหรือเปล่านี่ แต่ไม่เป็นไรป่ายังสวยให้ชื่นใจ แล้วเราก็ได้เห็นป้ายทางเข้า บ้านทุ่งหลวง แต่คนดู GPS ท้วงว่า …. ม่ายช่ายนะ ต้องไปอีกหน่อย… และก็ไม่ใช่จริงๆ เพราะโทรถามแล้ว เขาบอกว่าอยู่ที่ หมู่บ้านห้วยตอง ถ้าเห็นนักบุญเปาโลองค์ใหญ่ยืนเหมือนไม้กางเขนอยู่หน้าโบสถ์ละก็ ตรงนั้นแหละเข้าไปได้เลย

ใกล้เที่ยงแล้วเลยแวะทานข้าวหน้าศูนย์ฯ ทุ่งหลวงกันก่อน สำรวจไว้เผื่อเย็นค่ำจะได้รู้ว่าหาเสบียงได้ที่ไหน มีร้านอาหารตามสั่ง 3-4 ร้านแต่ละร้านดูสะอาดดี แปลกนะ! ดูเป็นหมู่บ้านเงียบๆ เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง แต่สามารถเปิดร้านอาหารกันได้ตั้งหลายร้าน แสดงว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่เปลี่ยนไปแล้ว แล้วยิ่งต้องแปลกใจ เมื่อสั่งอาหารมา ข้าวผัดกะเพราไข่ดาวนะนี่ หน้าตาดูดีมีราคา ประมาณร้านอาหารในเมืองแต่ราคาชาวบ้านนะ

ก่อนออกจากร้านพ่อครัวหนุ่มน้อยพ่อลูกอ่อนยังแบ่งกล้วยหอมให้พวกเราคนละใบ นี่แหละนะ…น้ำใจหาได้ง่ายจัง กล้วยหอมลูกน้อยๆเลยอร่อยขึ้นเยอะ

อิ่มท้องแล้วก็ได้เวลาเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ ได้พบ คุณแบงค์(คุณคุณากร เปี้ยบุญยืน) เจ้าหน้าที่ประสานงานและสนับสนุน
โครงการหลวง และ คุณเพชรพโนทัย บุญเรือง นักวิชาการผักที่ขายังเข้าเฝือกก็เขย่งเข้ามา เนื่องจากพามอเตอร์ไซค์ไปล้มกระดูกหักต้องเขย่งแบบนี้มา 2 เดือนแล้ว

หลังจากเข้าใจตรงกันแล้วว่าเราจะมาทำอะไร เราก็ได้รู้ข้อมูลมากมายจากที่สงสัยกันมานาน

หมู่บ้านที่ศูนย์ฯ ทุ่งหลวงดูแลอยู่นี้ มีชาวกะเหรี่ยง กับม้ง ซึ่งมีวิถีชีวิตต่างกัน ดังนั้นในการเข้าไปส่งเสริมก็ต้องศึกษาพื้นฐานการดำรง
ชีวิตของแต่ละเผ่า ถึงทั้งสองชนเผ่าจะนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่แต่ต่างยึดถือธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติมาแต่บรรพบุรุษ จึงทำให้วิถีชีวิตหรือแนวการปฏิบัติตัวของพวกเขาแตกต่างกัน ส่วนน้อยที่นับถือศาสนาพุทธและยังมีที่นับถือผีอยู่

โครงการหลวงเข้ามาก็เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักเป็นรายได้แทนการปลูกฝิ่น ทำให้การปลูกฝิ่นค่อยๆ ลดลง แนวทางในการเข้าถึงชาวบ้านที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือ…ศูนย์พัฒนาฯ ได้งาน ชาวบ้านได้เงิน…

ศูนย์ฯ ทุ่งหลวงจะเปิดรับสมัครสมาชิกของศูนย์ฯ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เมื่อสมัครเข้ามาแล้วก็จะจัดการอบรมให้ความรู้
พื้นฐาน ตรวจสุขภาพ เมื่อผ่านขั้นตอนแล้วจะส่งรายชื่อและประวัติไปที่เชียงใหม่และส่วนกลาง เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรของโครงการฯ

ปัจจุบันมีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่ 780 ราย แต่ทำจริงๆ แค่300 กว่ารายเท่านั้น ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน แม้จะมีเกษตรกรน้อย แต่
แผนงานจากส่วนกลางกลับมากขึ้น และในตลาดก็มีคู่แข่งเรื่องผลผลิต หลากหลาย เช่น การปลูกพืชผักก็มีการแข่งขันปลูกผัก GAP และผักอินทรีย์

หรือบางทีก็อยู่ที่ค่านิยม เช่น พืชหัว ซึ่งถึงแม้ทางโครงการหลวงจะควบคุมเรื่องการใช้ยาและสารเคมี แต่ไม่สามารถควบคุมรูปทรงลักษณะขนาดได้คงที่ สู้พืชหัวของจีนที่มีขนาดใหญ่รูปร่างได้มาตรฐานเท่ากันทุกลูกไม่ได้

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่ทางโครงการหลวงต้องคอยปรับปรุงให้สินค้าได้มาตรฐานอยู่เสมอ นับเป็นปัญหาที่ค่อนข้างลำบากกับทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องคอยตรวจตรา ดูแลแก้ไขอยู่ตลอดเวลา บางทีอาจทำให้สมาชิกรู้สึกยุ่งยากมากไป ก็เลยทำให้สมาชิกน้อยลงไปอีกการผลิตสินค้าก็จะไม่ได้ตามแผน

เกษตรกรเมื่อเป็นสมาชิกของโครงการหลวงมีสิทธิซื้อพันธุ์กล้าจากโครงการหลวงในราคาสมาชิกไปเพาะปลูก เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาส่งเข้าโครงการหลวงได้เลย ระหว่างปลูกจะมีเจ้าหน้าที่ไปดูแลแนะนำส่งเสริมหากเกิดปัญหาหรือปลูกแล้วไม่ได้มาตรฐาน ทางศูนย์ก็จะช่วยหาทางระบายสินค้าให้ ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทส่งให้โรงงานแปรรูป

เจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ ทุ่งหลวงตอนนี้มีอยู่ 12 คน มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหลายๆ ส่วน มีตำแหน่งแตกต่างกันไป แบ่งเป็น
ทีม เช่น ทีมอารักขาพืชหรือทีมหมอ, ทีมเจ้าหน้าที่ส่งเสริม, ทีมไม้ผล,ทีมไม้ดอก, ทีมผัก, ทีมพืช GAP เหล่านี้เป็นต้น สำหรับทีมหมอนี้แต่ละศูนย์ฯ จะมีเป็นหลักไว้ 1 คน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะมีเบอร์ติดต่อที่สามารถรับเรื่องกันได้ทันที แต่เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับผลผลิตของเกษตรกรเจ้าหน้าที่แปลงก็จะสามารถเข้าไปดูแลให้คำปรึกษาได้ เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหมอพืชเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ระบบการดูแลสมาชิกเกษตรกรของศูนย์ฯ ทุ่งหลวง
– ส่วนกลางเป็นผู้วางแผนการตลาดว่าแต่ละปีจะมีการส่งผลผลิตเป็น
จำนวนเท่าไร
– ทางศูนย์ฯ ทุ่งหลวงจะรับแผนนั้นมาแล้วมาพิจารณาว่า เกษตรกร
ในพื้นที่ที่ดูแลอยู่จะมีศักยภาพสามารถรับแผนการปลูกพืชชนิดใด
ได้บ้างรับได้อย่างละเท่าไร
– เมื่อตกลงรับแผนแล้วก็จะซื้อเมล็ดพันธุ์จากส่วนกลาง หรือสถานีที่
เพาะเมล็ดพันธุ์มาตามแผน
– ทำการเพาะกล้าที่ศูนย์แล้วแบ่งขายให้กับสมาชิกเกษตรกรตาม
แผนที่กระจายให้ตามความสามารถของสมาชิกแต่ละคน
– เกษตรกรรับกล้ามาปลูกในพื้นที่ของตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่คอย
ออกมาดูแลและตรวจสอบ พร้อมช่วยกันแก้ปัญหาอย่างสม่ำเสมอ
– เมื่อได้เวลาส่งผลผลิตก็มาส่งที่อาคารผลผลิต เจ้าหน้าที่ก็ตรวจรับ
ตามระเบียบปฏิบัติ ออกใบรับให้แต่ละครั้ง แล้วรวบรวมจำนวน
รับซื้อของแต่ละคนแล้วจัดจ่ายเงินให้ภายใน 7 วัน

แต่ในบางครั้งอาจเกิดปัญหา เช่นช่วงที่สภาพอากาศไม่ค่อยดี ฝนตกแยะ หรือลามไปถึงมีโรคแพร่ระบาดในพื้นที่ ทำให้กล้าที่รับมาเสียหายส่งของไม่ทันกำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งไปทางส่วนกลางให้ทราบก่อนแล้วถึงติดต่อไปยังศูนย์ฯ ใกล้เคียง เพื่อที่จะหาผลผลิตที่จะรองรับและส่งผลผลิตให้ได้ตามแผนที่รับมา เป็นการช่วยเหลือกันอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ สมาชิกเกษตรกรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุกศูนย์จะมีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกที่ขาดแคลนหรือบางครั้งเกิดปัญหา เป็นการทำให้กลุ่มสมาชิกเข้มแข็งขึ้น

สำหรับพื้นที่ทำกินนั้น ชาวบ้านที่นี่มีพื้นที่ทำกินกันมาก่อนที่โครงการหลวงจะเข้ามา ดังนั้นที่ดินของบางคนก็มีโฉนด บางคนก็ไม่มี
หรือบางคนมีถึง 10 ไร่ แต่บางคนมีเพียง 5 ไร่ ไม่เท่ากัน เวลาจะปลูกพืชก็จะปลูกแบบหมุนเวียน ปลูกข้าวบริเวณที่ราบเอาไว้กินในครัวเรือน ปลูกผักหมุนเวียนส่งโครงการหลวง ทางศูนย์ฯ ทุ่งหลวงก็พยายามจำกัดการใช้พื้นที่ของชาวบ้าน เพราะเกรงจะมีการรุกล้ำพื้นที่ป่ามากเกินไปซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและทางกรมป่าไม้เข้ามาช่วยดูแล

ศูนย์ฯ ทุ่งหลวงนี้ยังเป็นพื้นที่ที่รับพืชพันธุ์ที่วิจัยใหม่ๆ จากส่วนกลางมาทดลองปลูก ก่อนจะนำไปส่งเสริมให้กับสมาชิกซึ่งตอนนี้ที่นำไปส่งเสริมก็จะเป็น ผักกาดขาวปลี และผักสลัดต่างๆ

ไปดูสวนผักที่ศูนย์ฯ ทุ่งหลวงส่งเสริม

ที่นี่เป็นสวนผักปลูกในโรงเรือนที่ทำแบบง่ายๆ แต่ก็สร้างรายได้ให้อย่างดี วันนี้เราจึงเห็นโรงเรือนโครงเหล็กแข็งแรงโรงใหม่ ขนาดใหญ่ไม่ใช่น้อย เตรียมรับแผนใหม่จากโครงการหลวง

พื้นที่ฝั่งนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ด้วยน้ำ มีร่องน้ำเล็กๆ แทรกอยู่ทั่วไปพื้นที่ราบปลูกข้าวไว้กิน สำหรับพืชผักที่ปลูกอยู่บนเนินก็สูบน้ำจากร่องน้ำขึ้นมาพักไว้ในถัง ร่องน้ำเล็กๆ มีน้ำไหลรินตลอดเวลา รถไถนาขนาดเล็กที่ใช้แทนควายไถนา ช่วงว่างงานก็ทำหน้าที่ใหม่เป็นเครื่องปั่นไฟสำหรับใช้กับเครื่องสูบน้ำเวลาจะสูบไปใช้รดน้ำผัก ดูเป็นการใช้งานที่คุ้มค่าจริงๆ

น้ำและเส้นทางขนส่งสินค้า เป็นสิ่งสำคัญของเกษตรกร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ตั้งแต่พระองค์ทรงเริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูง เราจึงได้พบแหล่งเก็บน้ำและถนนคอนกรีตที่สร้างใหม่ไล่ตามไปในทุกพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก


แปลงผักเล็กๆ อีกแปลงหนึ่งอยู่ติดธารน้ำ ผักดูอวบใหญ่ ธารน้ำนี้มีชื่อ “ห้วยข้าวลีบ” ไม่น่าเชื่อว่าจากนาข้าวใกล้ๆ กันนี่เอง ที่เราเห็น
ร่องน้ำเล็กๆ ที่เห็น จะกลายเป็นธารกว้างขนาดนี้ ในพื้นที่แถบนี้คงมีร่องน้ำหลายร่องไหลมารวมตัวกัน จึงเกิดเป็นธารน้ำใสๆ เห็นแล้วน่าลงไปเดินเล่น มีหินใหญ่สวยงามดักน้ำไว้เป็นบางส่วนและมีการเสริมฝายคอนกรีตเพื่อดักน้ำไว้ใช้ ทำให้จุดนี้ดูใกล้เคียงน้ำตก จากแอ่งน้ำมีร่องเล็กๆ ด้านข้างผันน้ำแยกไปเพื่อส่งไปเลี้ยงนาข้าวที่อยู่ต่ำไปอีกด้านบริเวณนี้ดูจะมีธรรมชาติสวยงาม ถ้าได้สะสางหญ้ารกๆ ออก ก็น่าจะเป็นจุดถ่ายภาพธรรมชาติที่น่าชื่นใจได้อีกจุด

เข้าเขตทุ่งหลวงมายังไม่เห็นพืชไร่แปลงใดไกลสุดลูกตาเลย ทุกแปลงทำแค่ทำไหว นาข้าวมีแค่พอกิน เครื่องมือเครื่องใช้ก็ใช้อย่างรู้ค่าน้ำที่ไหลผ่านที่นาของใครก็ไม่ใช่ของคนนั้น มีไว้แบ่งปันกัน จะสูบน้ำใช้ก็กั้นฝายเล็กๆ พอจุ่มหัวสูบได้น้ำพอใช้ในแต่ละครั้งก็ปล่อยน้ำไป

กลับมาที่ศูนย์ฯ ทุ่งหลวง มีโอกาสดูการรับผลผลิต รู้สึกเกรงใจเจ้าหน้าที่ที่เราไปรบกวน เพราะจดหมายที่ขออนุญาตมาก็ไม่ได้ระบุ
ชัดเจนว่าเราขอทำอะไรบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามจัดให้เราได้ทำงานตามที่ตั้งใจไว้

เกือบ 4 โมงเย็นแล้วพวกเรามาที่ อาคารผลผลิต อาคารผลผลิตของที่นี่ใหญ่กว่าทุกที่ที่ไปมา สงสัยว่าไร่สวนกว้างขวางที่มีผลผลิต
มากมายอยู่แถวไหน เรายังไม่เห็นเลย แต่ที่นี่มีพื้นที่รับผลผลิตใหญ่มากมีชาวบ้านกำลังมาส่งผักกาดขาวห่อพอดี รถกระบะ 3 คันบรรทุกผักมาเต็มกระบะ ทำให้บริเวณรับของดูชุลมุนวุ่นวายพอควร เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต่างช่วยกันทำการกำจัดใบที่ไม่ต้องการทิ้งจนเหลือแต่กาบขาวๆที่นี่มีพนักงานเยอะ น่าจะรับผลผลิตมากกว่าที่อื่นๆ จริงๆ

ห้องคัดแยก

เมื่อคุณแบงค์ขออนุญาต คุณปฐมพงษ์ วงศ์ชมพู นักวิชาการคัดบรรจุ ผู้ดูแลอาคารผลผลิตแล้ว พวกเราก็ได้เข้าไปดูภายในห้อง
ทุกคนต้องใส่หมวก ซึ่งจริงๆ แล้วเราจะต้องมีผ้ากันเปื้อนหรือเสื้อคลุมด้วยแต่เราไม่ได้แจ้งไว้ก่อน

ห้องข้างในใหญ่ โล่ง ดูสะอาดอย่างกับห้องผ่าตัดเลย พนักงานทุกคนใส่ชุดเสื้อคลุมใส่ถุงมือ ใส่หมวก ใส่ผ้าปิดปาก กำลังก้มหน้า
ก้มตากำจัดใบอีกครั้ง เช็ดหัวผักกาดให้ปราศจากขี้ดิน เสร็จแล้วก็วางในสายพาน สายพานจะนำผลผลิตเลื่อนหายเข้าห้องถัดไป เห็นรางยาวๆ มีสายพาน มีอ่างน้ำยาวๆ ด้วยอีกหนึ่งชุด แต่ไม่มีการใช้ ได้ทราบว่านั่นเป็นเครื่องที่ใช้น้ำเย็นจัดลดอุณหภูมิของผักให้เย็นลง เพื่อรักษาผักให้สด ส่วนใหญ่ใช้กับผักประเภทหัว เช่น แครอท แรดิช หน่อไม้ฝรั่งเป็นต้น และใช้กับผลผลิตประเภทงานทดลองวิจัย เรียกว่าระบบHydro Cooled แต่กรรมวิธีนี้ต้องผ่านหลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลานาน กว่าจะเสร็จสิ้นครบทุกกระบวนการใช้เวลาเป็นชั่วโมง จึงยกเลิกวิธีนี้ไป เครื่องนี้ทางบริษัทผู้ผลิตนำมาติดตั้งให้เอง เนื่องจากเมื่อก่อนที่ศูนย์ฯ ทุ่งหลวงนี้ ก็เป็นศูนย์ฯ หนึ่งสำหรับทำงานวิจัยด้วย เมื่อไม่ได้ใช้แล้ว ก็คงจะหาทางแยกชิ้นส่วนนำไปใช้ทำอย่างอื่นให้เกิดประโยชน์และพื้นที่นี้จะได้ใช้ในการตรวจรับเช็คผลผลิตได้มากขึ้น

ห้องบรรจุผลผลิต

เข้าไปอีกห้องเป็นห้องบรรจุผลผลิต เจ้าหน้าที่กำลังบรรจุผักที่สายพานนำเข้ามาใส่ถุงพลาสติกที่มีชื่อ “ดี อร่อย” ในห้องจะมีคอมพิวเตอร์สำหรับผลิตสติคเกอร์ระบุ ชื่อสินค้า น้ำหนัก วันที่ผลิต ( บอกเป็นระบบ Julian Date ) หมายเลขเกษตรกร หมายเลขศูนย์ฯ ที่รับและส่งเสริมผลผลิต เกรดของผลผลิต ถ้าเป็นพืชอินทรีย์ก็จะบรรจุในถุงเฉพาะที่ระบุคำว่า..ออร์แกนิค เท่านั้น

เพื่อรักษาผลผลิตให้สดอยู่ได้นานนั้นมี 3 วิธีการ คือ
ระบบ Force Air Cooling ใช้เครื่องปรับอากาศอุณหภูมิต่ำและมีความชื้นสัมพัทธ์สูง มีพัดลมหมุนเวียนอากาศอยู่ภายใน
ช่วยยืดอายุของผลผลิต ส่วนใหญ่ใช้กับพืชผัก
ระบบ Hydro Cooled เป็นการลดอุณหภูมิโดยใช้น้ำเย็นจัดไหลผ่านอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการรักษาความสดสูง
แต่น้ำต้องเย็นจัดมากๆ จนสามารถลดความร้อนจากผลผลิตได้ส่วนใหญ่ใช้กับพวกพืชผักประเภทหัว
ระบบ Vacuum cooling เป็นการลดอุณหภูมิของผักด้วยระบบสูญญากาศ ส่วนใหญ่ใช้กับผลิตผลของลูกค้าที่มีความต้อง
การรักษาความสดใหม่ของผลผลิตสูง และผลิตผลเหล่านี้จะต้องเก็บรักษาไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำ การขนส่งต้องใช้รถที่มีห้องเย็น

ห้องที่ทำ vacuum นี้ดูแน่นหนาแข็งแรงและน่ากลัว เห็นแล้วไม่กล้าเข้าใกล้ กลัวสัญญานปิดเปิดรวนขึ้นมาเราจะถูกดูดเข้าไปแล้วจะ
ออกมาอย่างไร ประตูเหล็กหนาหนักขนาดนั้น แต่ดูเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่รู้สึกว่ามันน่ากลัวเหมือนที่พวกเรารู้สึกกันเลย

มะเขือเทศสีเหลือง
ออกจากอาคารคัดบรรจุ เดินมาที่โรงเรือนปลูกมะเขือเทศแฟนตาซี 5 สี แต่ที่นี่มีอยู่สีเดียว คือ สีเหลืองว่าที่ร้อยตรี สุพล แสงแก้ว นักวิชาการไม้ดอกบอกว่าพวกเรามาช้าไป เพิ่งเก็บมะเขือเทศ 5 สีไปเมื่อวันก่อน ตอนนี้เหลือแต่สีเหลืองตรงนี้แหละกำลังเริ่มออกช่อ มะเขือเทศสีเหลืองมีรสหวานมากกว่าสีอื่นลูกค้าชอบ เลยปลูกแต่สีเหลืองตามออเดอร์ของลูกค้า

ทางโครงการหลวงได้นำพันธุ์จากต่างประเทศมาทดลองปลูกและวิจัยตามศูนย์ฯ ต่างๆ และได้เริ่มเพาะมะเขือเทศแฟนตาซีเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553

การเพาะกล้ามะเขือเทศจะเพาะในขุยมะพร้าวกับปุ๋ย พอได้กล้าแล้วก็เอาลงแปลง ซึ่งแปลงมะเขือเทศนี้ก็เป็นแปลงขุยมะพร้าว เอากล้าลงในกาบมะพร้าวเป็นเหมือนกระถางในตัว กาบมะพร้าวใส่อยู่ในถุงพลาสติก เพื่อควบคุมระดับน้ำที่ให้กับต้นมะเขือเทศ จะให้น้ำค้างอยู่ในถุงสูงได้ไม่เกิน 5 เซนติเมตรเถามะเขือเทศจะเลื้อยขึ้นไปตามเชือกที่ขึงไว้ พอสูงได้ประมาณ 60 เซนติเมตร มันก็จะเริ่มออกดอกเป็นช่อยาวเกือบ 40 เซนติเมตร ดอกจะค่อยๆ กลายเป็นผลไล่ระดับจากโคนไปจนปลาย เขาก็ไล่เก็บไปเรื่อยๆ จนหมด ต้นก็หมดอายุ ต้องปลูกใหม่ซึ่งรวมเวลาตั้งแต่เพาะกล้าจนหมดอายุประมาณ 5-6 เดือน

มะเขือเทศทั้ง 5 สีมาจากคนละต้น แต่ละต้นไม่ใช่พันธ์ุเดียวกันมีรสชาติแตกต่างกัน สีแดงเหมือนมะเขือเทศราชินี สีชมพูกับสีเหลืองมีรสหวานที่สุด สีส้มเปลือกหนาและเหนียวกว่าสีอื่น สีช็อกโกแลตที่ดูเหมือนพุทราเน่า แต่รสชาติเป็นมะเขือเทศมากที่สุด ทานแล้วได้ความรู้สึกว่าเนื้อหนากว่าสีอื่นแต่แท้จริงเขาบอกว่าผิวของมะเขือเทศน่ะไม่มีสีหรอกนะ สีแดงชมพู ส้ม เหลือง หรือช็อกโกแลตนั้น เกิดจากสีเนื้อข้างในของผลมะเขือเทศนั่นเอง

ออกจากโรงเรือนเพาะปลูกมะเขือเทศแฟนตาซี ฟ้าก็เริ่มมืดอากาศเริ่มเย็น เข้าบ้านพักของศูนย์ฯ ทุ่งหลวงที่อยู่ใกล้ๆ นั่นเอง

3 ตุลาคม 2560

ตื่นแต่ตี 5 คุณแบงค์พาไปดูทะเลหมอกบนยอดเขาใกล้ๆ ขับรถย้อนกลับไปจอดที่ตีนบันไดนาค วัดพระธาตุ ศรีสมเด็จ พระพุทธชินวงศ์ต่อจากบันไดนาคก็เดินไปตามทางเดินเท้าลัดเลาะไปจนถึงบริเวณตักของพระพุทธรูปองค์ใหญ่บนยอดเขาที่เราเห็นตั้งแต่เมื่อวาน แล้วเดินต่อขึ้นไปถึงบนยอดซึ่งน่าจะเป็นระดับอกของพระพุทธรูป ตอนนี้เราอยู่หลังองค์พระพุทธรูป ด้านที่ยืนอยู่กลายเป็นผาสูงมองได้กว้างไกล ฟ้ายังมืดแต่หมอกเริ่มหนาแล้ว อากาศเย็นสบายกำลังดีไม่หนาวเกินไป

มองลงไปเห็นไฟวับแวมสองสามจุดอยู่ซ้ายมือ นั่นคือบ้าน “ห้วยอีค่าง” ที่เราผ่านไปดูไร่ที่ “ห้วยข้าวลีบ” เมื่อวานตอนเย็น คุณแบงค์บอกว่าข้างขวาต่ำลงไปอีกหน่อยมีดวงไฟมากกว่าสักหน่อย นั่นคือ “บ้านทุ่งกว้าง” ที่เราจะเข้าไปเมื่อวาน อะไรนี่ !!! เมื่อวานที่ผ่านมา เราคิดว่าบ้านทุ่งกว้างกับ “บ้านห้วยตอง” อยู่ในระดับไล่เรี่ยกัน แต่ดูอย่างนี้เท่ากับเราอยู่บนยอด แล้วต้องลงไปอีกหลายร้อยเมตรถึงจะเป็นระดับหมู่บ้านทุ่งกว้างนะ

ก่อนเดินลงตามเส้นทางเลียบหน้าผา กราบขอขมาต่อพระพุทธองค์ด้วยความเคารพและศรัทธา ไม่ค่อยแน่ใจว่าเราควรรู้สึกอย่างไรกับพระพุทธรูปองค์ใหญ่เหมือนผุดขึ้นมาจากภูเขา ท่ามกลางหมู่บ้านเล็กๆที่ดูอบอุ่น แล้วเรายังขึ้นบันไดไต่เขามาเคียงบ่าเคียงไหล่พระพุทธรูปที่ควรเคารพบูชาด้วยเจตนาหาความสุข แล้วทันทีที่ได้เห็นความงามของทะเลหมอกยามเช้าเราก็ตื่นเต้นจนลืมสำรวม เราอาจทำผิดวัตถุประสงค์ของผู้ริเริ่มก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ก็เป็นได้

เช้่านี้ยังไม่มีโปรแกรมรีบไปไหน ทานอาหารเช้าเสร็จเดินไปอาคารผลผลิต เห็นชาวบ้านกำลังช่วยกันเพาะพันธุ์กล้าอยู่ใกล้ๆ ได้ความรู้มานิดหน่อยว่าที่นี่มีชาวกะเหรี่ยง 3 – 4 ครอบครัวมารับเพาะพันธุ์กล้าทางศูนย์ฯ ทุ่งหลวงจะมีวัตถุดิบให้ทุกอย่าง ทั้งเมล็ดพันธุ์ ถาดเพาะ ดินปุ๋ยสำหรับเพาะ พวกเขามีหน้าที่เอาดินปุ๋ยใส่ถาด เอาเมล็ดพันธุ์หยอดลงหลุม หลุมละ 1 เมล็ดอย่างคล่องแคล่ว เอาดินปุ๋ยกลบเรียบร้อยแล้วเอาเข้าโรงบ่มซึ่งอยู่ใกล้ๆ เพื่อกระตุ้นให้ต้นกล้างอกเร็วขึ้น เพราะในห้องบ่มจะมีอุณหภูมิสูงกว่าข้างนอก จากนั้นเอาเข้าไปเรียงไว้ในโรงเรือน เลี้ยงจนกว่าต้นกล้าจะพร้อมนำไปปลูก ระหว่างนั้นต้องมาดูแลรดน้ำ แยกต้นที่เกินออกให้เหลือเพียงหลุมละ 1 ต้นเท่านั้น เพราะในการหยอดเมล็ดพันธุ์อาจจะมีบางหลุมที่มีเมล็ดพันธุ์มากกว่า 1 ต้น แต่ต้นที่เกินนี้ไม่ต้องทิ้งไปไหนเพราะมีหลายหลุมที่ต้นกล้าอาจไม่ขึ้นก็เอาต้นที่ดึงออกใส่ลงไปแทน เมื่อมีอายุพอที่จะไปปลูกได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เกษตรกรมาเลือกซื้อผู้เพาะกล้าจะได้ค่าจ้างการเพาะกล้าที่มีต้นกล้าสมบูรณ์ครบทุกหลุม ถาดละ 4 บาท


ชาวบ้านโดยเฉพาะพวกผู้หญิงชอบที่จะรับงานเหมา เพราะสามารถผลัดกันมาทำได้ มาทำเวลาไหนก็ได้ บางครั้งต้องดูแลลูกหรือ
มีเรื่องอื่นต้องทำก็จัดเวลาของตัวเองได้ แค่รับผิดชอบส่งงานให้ครบก็พอถ้าเป็นลูกจ้างโครงการหลวงต้องมาตามเวลา ค่ำถ้าจะทำโอทีก็ไม่ได้ ต้องทำงานตามเวลาที่โครงการหลวงกำหนด การทำแบบนี้ทำให้พวกเขาสะดวกและทางโครงการหลวงเองก็ได้งานมากกว่า นับว่าดีต่อทั้งสองฝ่ายนะ

การที่ทุกศูนย์ฯ จะต้องเพาะกล้าขายให้กับเกษตรกรแทนการขายเป็นเมล็ด เพราะถ้าเกษตรกรเอาเมล็ดไปเพาะเองอาจเพาะไม่หมด หรือเพาะแล้วแต่เสียหายก็จะทำให้ไม่ได้ผลผลิตตามแผนที่รับมา

เช้านี้คุณแบงค์จะพาไปดูสวนผักอินทรีย์ แต่ก่อนไปก็แวะดูอ่างเก็บน้ำของศูนย์ฯ ทุ่งหลวงก่อน อยู่หลังโรงเรียนที่มีรูปปั้นนักบุญเปาโล อ่างเล็กๆ แต่ดูเป็นธรรมชาติดีจังเลย คุณแบงค์บอกเดิมทีศูนย์ฯ ทุ่งหลวงตั้งอยู่ตรงนี้แหละ แต่พื้นที่เล็กไปเลยย้ายขยับไปอยู่ตรงที่ตั้งปัจจุบัน ก็ห่างกันนิดเดียว อ่างเก็บน้ำนี้เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ ปี 2558 นี่เอง มีป้ายเขียนไว้ว่าเป็นโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนศูนย์ฯ ห้วยตองเอ…ก็งงเหมือนกัน ใช่ศูนย์เดียวกันกับทุ่งหลวงหรือเปล่า ยืนอยู่บนสันเขื่อนดินนี้ทำให้เห็นว่า บริเวณนี้มีโรงเรือนเก่าๆ ของศูนย์ฯ ทุ่งหลวงหลายโรง แต่ปัจจุบันใช้เป็นโรงผลิตปุ๋ย ก็น่าเสียดายพื้นที่นะ

จากนี้ก็ได้ไปดูไร่เกษตรอินทรีย์ขนาดเล็ก ได้เห็นแปลงเกษตรอินทรีย์ของเด็กนักเรียนที่ดูเหมือนร้างไปแล้ว แต่ศาลาเรียนยังมีข้อมูลการสอนวิธีปลูกผักอินทรีย์น่าสนใจดี

ฝนทำท่าจะตกเลยกลับ ถึงศูนย์ฯ ทุ่งหลวงฝนตกพอดี วิ่งหลบฝนในโรงเรือนที่อยู่ใกล้ที่ทำการ แล้วพวกเราก็เจอขุมทรัพย์ มะเขือเทศ 5 สีที่ตามหาอยู่เกลื่อนกลาดบนพื้น เจ้าหน้าที่คงล้มต้นเตรียมปลูกไม้ดอกที่เราเห็นมีอยู่ในโรงเรือนด้านหนึ่ง ดีใจรีบเก็บลูกเล็กลูกน้อยขึ้นมา…น่ารักจริงๆ สีช็อกโกแลตก็มีจริงด้วยซิ…เราก็เลยได้ภาพที่ตั้งใจมาใช้แล้วดีใจจริงๆ แล้วก็แอบชิมจนครบทุกสี อร่อยดีจริงๆ ด้วย

แต่ดูซิ !!! ฝนมามืดไปหมด เปิดดูสถานการณ์ฟ้าฝนในกูเกิ้ล อะไรนี่…เราอยู่ตรงกลางกลุ่มฝนก้อนมหึมา ฝนก้อนนี้ปกคลุมไปทั่วภาคเหนือชนิดไม่ต้องคิดหนีไปทางไหน อย่างนี้จะไปเที่ยวต่อกันได้ไงล่ะ

…เก็บของกลับบ้านกันเถอะ…

แต่ถึงไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนก็มีคำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวแถวทุ่งหลวงอยู่หลายแห่งตามคำบอกเล่า

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไปชมแปลงสาธิตพืชผัก ผลไม้เมืองหนาวชมการทำนาแบบขั้นบันได ตามความลาดชันของภูเขา

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง สาธิตการทอผ้า

เที่ยวน้ำตกห้วยกระแส, น้ำตกโป่งสมิต, น้ำตกห้วยเย็น สำหรับท่านที่ชอบเดินศึกษาธรรมชาติ

ขอขอบคุณ…
คุณเพชรพโนทัย บุญเรือง นักวิชาการผัก
คุณปฐมพงษ์ วงศ์ชมพู นักวิชาการคัดบรรจุ
ว่าที่ร้อยตรีสุพล แสงแก้ว นักวิชาการไม้ดอก
คุณคุณากร เปี้ยบุญยืน
เจ้าหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง

เรื่องราวและภาพจาก…
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง
ที่อยู่ : บ้านห้วยตอง เลขที่ 79 หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน
อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ 50360
โทรศัพท์ : 09 8278 9061, 08 4948 3546[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".