[:TH]สถานีวิจัยดอยปุย สวนสองแสน “พลับ”[:]

[:TH]
สวนสองแสน เป็นสวนที่ตั้งขึ้นเพื่อการวิจัยเป็น 1 ใน 3 แห่งของสถานีวิจัยดอยปุยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันได้แก่ ดอยบวกห้าสวนสองแสน และไร่บุญรอด ดังนั้นเรื่องของสวนสองแสนคงต้องเริ่มต้นจากการก่อเกิดสถานีวิจัยดอยปุยนั่นเอง

เริ่มจากช่วงเวลาที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์สร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เริ่มแปร
พระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักภูพิงค์ฯ ในช่วงฤดูหนาว และในช่วงเวลานั้น ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส คณบดีคณะวนศาสตร์ได้ริเริ่มโครงการวิจัยเรื่อง “การจัดการต้นน้ำ” ขึ้น ณ ห้วยคอกม้า บริเวณดอยปุยจ.เชียงใหม่ และรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำขึ้นโดยมีมติ แต่งตั้งให้ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส เป็นประธานอนุกรรมการวิจัยการจัดการลุ่มน้ำแห่งชาติ ซึ่งพิจารณาแล้วว่า ควรหาวิธีหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าจากการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่นของชาวเขา ด้วยการเปลี่ยนเป็นปลูกไม้ผลยืนต้นแทน จึงมีงบประมาณการทำวิจัยเรื่อง “การปลูกไม้ผลบนพื้นที่สูง”โดยให้ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรี แห่งภาควิชาพืชสวนและรองศาสตราจารย์อรรถ บุญนิธี แห่งภาควิชาพฤกษศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบ แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ความสนใจโครงการวิจัยนี้นัก โครงการจึงเกือบล้มเลิกหลายครั้ง

ปี พ.ศ. 2511 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงทราบถึงความยากลำบากในการดำเนินงานวิจัยของ ม.เกษตรจึงได้พระราชทานความช่วยเหลือด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทำให้โครงการวิจัยดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

ในปี พ.ศ. 2512 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯเยี่ยมเยียนชาวไทยภูเขาตามหมู่บ้านบนเขาสูง พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า“ถ้าจะให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นและเลิกทำไร่เลื่อนลอย ต้องหาพืชอื่นที่ได้ราคาดี และ มีความเหมาะสมปลูกบนพื้นที่สูงมาให้ชาวเขาปลูกทดแทน” ในเบื้องต้นทรงมอบให้ ม.จ. ภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระราชประสงค์ ท่านจึงชักชวน ม.ร.ว.ชวนิศนดากร วรวรรณแห่งภาควิชาสัตว์บาลมาร่วมงานด้วย และได้เลือกดอยอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแรกของโครงการหลวง และได้รับพระราชทานชื่อว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

ในปี พ.ศ. 2513 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงทอดพระเนตรเห็นความลำบากแร้นแค้นของชาวเขา หลังจากทรงถามชาวบ้านว่าปลูกฝิ่นได้ไร่ละเท่าไร ขายท้อได้เท่าไร ชาวเขาตอบว่า ขายฝิ่นได้ไร่ละ 4,000 บาทเท่ากันกับท้อ พระองค์ทรงทราบว่ามีสถานีเกษตรของ ม.เกษตรมาตั้งอยู่ใกล้ๆ พระตำหนัก และมีการนำท้อลูกใหญ่มาทดลองปลูกโดยการเปลี่ยนยอด จึงมีพระราชดำรัสให้อาจารย์ไปแสดงวิธีการเปลี่ยนยอดท้อให้ชาวเขาดู

หลังจากนั้น ม.เกษตรจึงเริ่มทำการวิจัยไม้ผลเพื่อการเกษตรพื้นที่สูงให้กับโครงการหลวงด้วย ทำให้พื้นที่วิจัยไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จึงทรงพระราชทานเงินจำนวน 240,000 บาทให้ไปหาพื้นที่ขยายเพื่อทำการวิจัยเพิ่มขึ้น คณะกรรมการศึกษาต้นน้ำ จึงนำเสนอพื้นที่ของนายประชา เธียรประสิทธิ์ ซึ่งเคยขออนุมัติซื้อพื้นที่มาทำวิจัยต้นน้ำแต่ไม่ผ่านการอนุมัติ สถานีวิจัยดอยปุยของ ม.เกษตร จึงได้พื้นที่นี้เป็นสวนเพื่อการวิจัยพืชไม้เมืองหนาวเพิ่มขึ้นอีก 1 แปลง

จากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะเสด็จไปที่สวนนี้พระองค์จะมีพระราชดำรัสว่า…ไปสวนสองแสนกัน….จึงนับว่าเป็นชื่ออันเป็นมงคลที่พระองค์พระราชทานให้ว่า “สวนสองแสน”

สิงหาคม 2552
พวกเรารู้จัก สวนสองแสน จากการไปพักที่ Size A ไร่กาแฟขุนช่างเคี่ยนของสถานีวิจัยเกษตรที่สูงเมื่อหลายปีก่อน ได้เห็นพลับที่แปลงกาแฟซึ่งเป็นพลับพันธุ์ฝาด กำลังถูกบ่มด้วยก๊าซคาร์บอนอยู่ แต่พลับแบบนี้ทานแล้วยางจะติดฟัน จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำให้รู้ว่าพลับแบบไม่ต้องบ่มก็มีนะ ที่ “สวนสองแสน” ที่เราผ่านมาแล้วนั่นเองเป็นฤดูกาลของพลับพอดี จึงได้มีโอกาสชิมพลับหวานกรอบพันธุ์ Fuyuแล้วยังได้รู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งวิจัยพืชไม้เมืองหนาวมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโครงการหลวงเลยเชียว แต่ก็ยังไม่เข้าใจความเกี่ยวข้องของสวนสองแสน กับ ม.เกษตร และโครงการหลวงว่าเป็นอย่างไร แต่ที่สนใจเพราะได้ข้อมูลว่า พลับพันธุ์ Fuyu เห็นมีลูกเหลืองๆ น่ากิน ถูกห่อด้วยถุงพลาสติกอยู่นับร้อยต้นนั้น เป็นพลับวิจัยที่ยินดีรับผู้สนใจจองแบบเช่าเป็นเจ้าของ ปีต่อปี ระหว่างนั้นจะได้รับข้อมูลให้เราขึ้นไปรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ห่อลูก แล้วก็เก็บเกี่ยวเป็นระยะ เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ สำหรับการที่อยากเป็นเจ้าของสวนพลับแบบไม่ต้องรับผิดชอบเลย แต่ถ้าอยากดูแลก็ขึ้นมาตามเอกสารแจ้ง จะมีเจ้าหน้าที่มาสอนเราทุกขั้นตอนถ้าเราสนใจจะทำหรือเรียนรู้ ราคาเช่าต่อต้นต่อปี 1,500 บาท (ใครโชคดีบางปีต้นหนึ่งก็อาจมีลูกไม่ต่ำกว่า 200 ลูกเลยนะ)

หลังจากนั้นมาพวกเราก็ได้มีโอกาสขึ้นมาห่อพลับบ้างบางปี แต่ที่ขึ้นมาแน่ๆ คือมาเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้เราได้มีโอกาสรู้จัก อาจารย์วิสิฐกิจ สมพร หัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุย ในช่วงนั้น (ปัจจุบันท่านเกษียณแล้ว แต่ยังมาช่วยงานที่สถานีฯ อยู่ ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ทำให้เราได้รู้เรื่อง “พลับ” มาบ้างพอเล่าสู่กันฟังเท่าที่จดจำได้ว่า

พลับเป็นพืชเมืองหนาวที่มีต้นกำเนิดจากเมืองจีน แต่ไปโตที่ญี่ปุ่นและมีการพัฒนาเป็นไม้ผลเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น มีทั้งหมดกว่า 400 สายพันธุ์ แต่ถ้าแบ่งเป็นชนิดมีเพียง 2 ชนิด คือ ชนิดฝาด และชนิดหวาน

ปี พ.ศ. 2512 ม.เกษตร นำพลับพันธุ์ต่างๆ เข้ามาวิจัยร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงที่สถานีวิจัยดอยปุย จนกระทั่งประสบผลสำเร็จเป็นบางพันธุ์ สามารถส่งเสริมการปลูกพลับเป็นการค้า

พลับมี 2 ประเภท
1) พลับฝาด (Astringent) มีรสฝาด เนื้อเป็นสีเหลือง ต้องนำพลับฝาดผ่านกระบวนการขจัดความฝาดก่อนจึงจะรับประทานได้ ความฝาดเกิดจากสารแทนนินที่อยู่ภายในลูกพลับ ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบที่ละลายน้ำได้ เมื่อพลับสุกเต็มที่ สารแทนนินจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปที่ไม่ละลายน้ำทำให้เวลารับประทานแล้วไม่รู้สึกฝาด ดังนั้นการทานลูกพลับฝาดควรทานเมื่อพลับสุกเต็มที่หรือมีเนื้อนิ่ม พลับฝาดต้องนำไปผ่านกระบวนการขจัดความฝาดก่อน จึงจะรับประทานได้

2) พลับหวาน (Non-astringent) มีรสหวาน ผลใหญ่ เนื้อสีส้มอมเหลือง สามารถรับประทานสดได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการขจัดความฝาด เช่น พลับพันธุ์ Fuyu แต่พลับพันธุ์ Hyakume รสฝาด ถ้าดอกไม่ได้รับการผสมเกสรจะไม่เกิดเมล็ด เนื้อจะเป็นสีเหลือง หากได้รับการผสมเกสรจะมีเมล็ด 4-8 เมล็ด เนื้อจะเป็นสีน้ำตาล สามารถรับประทานได้ทันที รสชาติหวานกรอบฉ่ำน้ำกว่าพันธุ์ Fuyu นิดหน่อย

ปัจจุบันที่สวนสองแสนปลูกพลับหวานพันธุ์ Fuyu ในพื้นที่ราว 10 ไร่ แต่กว่าจะได้เป็นพลับหวาน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปลูกต้นตอพันธุ์ก่อนเป็นพันธุ์เต้าซื่อ หรือพลับพันธุ์ป่า ให้เป็นต้นพยุงและหาอาหารให้ต้นพลับ ต้นเต้าซื่อที่ว่านี้สามารถเข้ากับพลับฝาดได้ทุกสายพันธุ์ ยกเว้นพลับหวาน

ฉะนั้นจึงต้องใช้กรรมวิธีถึง 3 ขั้นตอน หรือต้องเสียบยอดถึง 2 ช่วง คือ ปลูกต้นเต้าซื่อก่อน แล้วเอาพันธุ์ฝาดมาต่อยอด จนพันธุ์ฝาดโตและแข็งแรง จึงนำพันธุ์หวานหรือพันธุ์ Fuyu เสียบกิ่งอีกที่ด้านบนสุด เท่ากับว่าต้องใช้ต้นพันธุ์ถึง 3 สายพันธุ์ และใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะได้พลับพันธุ์หวานที่ปลูกในบ้านเราได้

แต่ดูเหมือนพลับยังได้ผลไม่ค่อยคงที่นัก ในตลาดจึงยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็เลยทำให้การขึ้นไปเก็บพลับของผู้เช่าต้นทุกรายเป็นช่วงเวลาของครอบครัว แม้จะแค่ครึ่งวันใน 1 ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาอบอุ่นที่ครอบครัว และมิตรสหายได้มาปฏิบัติกิจกรรมเก็บพลับกันอย่างสนุกสนาน ช่วยกันทำความสะอาดพลับ ชั่งน้ำหนักแยกแต่ละต้นให้เจ้าหน้าที่บันทึกเป็นข้อมูลเพื่อการวิจัย จากนั้นทานอาหารที่เตรียมมาแล้วจบลงด้วยพลับหวานกรอบ ท่ามกลางความสดชื่นของอากาศบนดอยสูง พร้อมชมความงามของเทือกเขาที่ทอดยาวต่อเนื่องกันไปจนถึงดอยอินทนนท์โน่นเลย

สถานีวิจัยดอยปุย

แม้หนังสือเล่มนี้จะตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของมูลนิธิโครงการหลวง แต่เมื่อเริ่มทำความรู้จักมากขึ้น ก็ได้รู้ว่ามีหลายหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญช่วยกันก่อร่างโครงการหลวงขึ้นมา ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จนเป็นรูปร่างที่ชัดเจนเช่นวันนี้ และสถานีวิจัยดอยปุยก็คือหน่วยงานสำคัญมากๆ หน่วยงานหนึ่งที่ทำงานให้โครงการหลวงมาตลอด เราคงไม่สามารถบอกเล่าหรือสรุปเองได้จึงขอนำบทสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ วิสิฐ กิจสมพร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ม.เกษตรศาสตร์ ให้ท่านอ่านและทำความเข้าใจด้วยตัวเองดังนี้

อาจารย์เล่าว่า…ในยุคแรก ที่ศึกษาลิ้นจี่ ตอนกิ่งส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่ อ.ฝาง อ.แม่สรวย เพื่อให้ปลูกทดแทนป่าไม้ และปกคลุมดินถือเป็นผลไม้เศรษฐีเพราะหากินยาก ชาวบ้านเรียกพันธุ์พระราชทาน และมีอีกพันธุ์ ชื่อพันธุ์หมอหม่อง ซึ่งไปเจอที่สถานีรถไฟ สรุปแล้วก็คือ พันธุ์ฮงฮวยนั่นเอง ในสมัยนั้นเริ่มทำวิจัยเรื่องสตรอว์เบอร์รี่ ทดสอบพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร สั่งเข้ามาเป็นเบอร์ๆ พันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีกับประเทศไทย คือเบอร์ 13, 16 และ 20 พระองค์ท่านได้พระราชทานพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ให้กับหมู่บ้านช่างเคี่ยนเป็นที่แรก เบอร์ 13 คือ สายพันธุ์เคมบริดจ์ เบอร์ 16 คือ ทาโอก้า เบอร์ 20 คือซีควอญ่า เมื่อปลูกไปนานๆ ปรากฎว่าเบอร์ 13
ไม่ค่อยดี เบอร์ 16 กับ 20 ดีกว่า และเบอร์ 20 อร่อยกว่าเบอร์ 16 ปลูกไป 20 ปี เป็นการผลิตไหล โดยสตรอว์เบอร์รี่ต้นแม่ต้องปลูกในที่หนาวเย็นมากๆ เมื่อปล่อยให้รากยาวออกมา ก็จะเกิดต้นลูกใหม่ ไหลออกมาเป็นเส้นๆ เส้นละประมาณ 10 ต้น เราก็จะตัดต้นลูกแบบ Bare Root คือตัดล้างรากให้ไม่มีดินติด แล้วมัดรวมกันเพื่อขนส่งทางเฮลิคอปเตอร์ได้สะดวก การปลูกสตรอว์เบอร์รี่มี 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ ครึ่งปีแรกจะปลูกแบบไหล ครึ่งปีหลังปลูกเอาผลแดงที่ข้างล่าง ในสมัยก่อนสามารถปลูกแบบไหลได้ถึง 200 ต้นลูก แต่สมัยนี้ได้ 30 ต้นลูกก็ถือว่าดีแล้ว ต้นแม่ปลูกไหลได้ 2 ฤดู ก็ควรกำจัดทิ้ง เพราะต้นจะอ่อนแอลงคนแรกที่บุกเบิกโครงการหลวงคือ ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรีราวปี 2512 ในหลวงท่านก็ทรงตั้งสถานีวิจัยที่ดอยอ่างขางเป็นที่แรก ถัดมาเป็นที่ดอยอินทนนท์ และต่อมาที่ปางดะ ปางดะเป็นศูนย์ขยายพันธ์ุพืชส่งให้สถานี และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้งหมด

ถาม : ไม่ค่อยเข้าใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการทดลอง การวิจัยพอพูดแล้วจะนึกถึงภาพในห้องแล็บมีอะไรต่อมิอะไร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น ก็เลยนึกภาพไม่ออก การที่เรียกว่าวิจัย หรือทดลองขั้นตอนเป็นยังไงคะ
ตอบ : ตอนผมเรียนก็เหมือนกัน รู้สึกว่าการทำวิจัยต้องทำในห้องแล็บ ไม่เคยนึกว่าข้างนอกก็วิจัยได้ จริงๆ ทดลองวิจัยที่ไหนก็ได้ มันอยู่ที่ไอเดีย อยู่ที่แนวคิด และอยู่ที่การวางรูปแบบ ที่จะศึกษา ที่จะวิจัย

ถาม : อย่างการเอาสตรอว์เบอร์รี่มา พันธุ์อะไรก็ได้ มาปลูกที่ของเรา เราต้องวิจัยหรือพัฒนาให้อยู่ในสภาพพื้นที่ของเราให้ได้ ต้องทำยังไงคะ
ตอบ : โดยปกติมันมีแหล่งกำเนิดเหมือนคนเรา ที่มีสีผิวที่แตกต่างกันตามทวีปต่างๆ บนโลก ฉะนั้นเราต้องนำสตรอว์เบอร์รี่มาทดลองก่อนว่ามันปรับตัวได้ไหม คน สัตว์ สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เร็วดีกว่าพืช พืชต้องใช้เวลาในการปรับตัว เพราะพืชไม่สามารถที่จะเดินไปกินน้ำเองได้ไม่เหมือนคน มีหลายอย่างหลายปัจจัยที่จะต้องให้มันปรับตัวดินไม่เหมือนที่บ้าน อากาศไม่เหมือนกันอีก ต้องรอเวลาในการปรับตัวนี่ก็เป็นการศึกษาวิจัย เรานำของต่างชาติมาปลูก ต้องทดลองในพื้นที่ของเรา มันก็จะปรับตัวได้ไม่ได้ก็จะรู้ผล เราก็ต้องมีนักวิจัย และนักวิชาการที่นั่งเฝ้าดูการเจริญเติบโตของมัน ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ก็คือ ขณะนี้เอาทิวลิปมาปลูกในเมืองไทย ทิวลิปจะออกดอกหลังจากมันอยู่ในหัวแล้วเหมือนต้นหัวหอมอยู่ในหัว เอาไปไหนก็ได้ เมืองไทยก็ฉวยโอกาสโดยนักพัฒนา นักวิชาการ หรือใครก็แล้วแต่ ไปเอาทิวลิปจากฮอลแลนด์มาปลูกที่เชียงราย ก็จับช่วงที่มันฟักตัวเรียบร้อย มันจะตื่น พอตื่นแล้วก็ออกดอกโดยกินอาหารในหัวเดิมที่เอามา


ถาม : ทำยังไงให้ดอกทิวลิปมีชีวิตต่อไปได้อีก
ตอบ : ไม่ มันออกมาแล้วคือได้ดอกแล้ว เราต้องสั่งมาเรื่อยๆเพราะสภาวะการที่นี่ไม่เหมาะสมกับดอกทิวลิปเหมือนที่บ้านมันอย่าง
แท้จริง ถ้าอยู่พื้นที่ของมัน มันก็จะออกหัวใหม่ของมันเอง

ถาม : ไม่เคยมีใครทดลองวิจัย
ตอบ : มีครับมี แต่มันยากเหมือนกับเอามะม่วงน้ำดอกไม้ไปปลูกที่อังกฤษ นักวิจัยฝั่งนู้นก็เหมือนเช่นเรา

ถาม : ถ้าจะทำจริงๆ เขาอาจมีกรรมวิธี
ตอบ : ใช่ มันต้องใช้ High Technology แล้ววิชาการขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่พ้นมือนักวิจัยและนักวิชาการ เช่น เราทำสภาวะต่างๆให้คล้ายต่างประเทศ มันก็ทำได้ แต่ต้องลงทุนสูง

ถาม : พืชผักที่ปลูกบ้านเราได้ เช่นสตรอว์เบอร์รี่ที่ไม่ใช่ของบ้านเรา แล้วนำมาทดลองปลูก จนกระทั่งสามารถอยู่ได้ พัฒนาการได้ยังไงคะ
ตอบ : มันปรับตัว พืชปรับตัวช้ากว่าคน แต่ก็สามารถปรับตัวได้เช่น พระราชทาน 3 เบอร์แรกมาเพาะเพื่อศึกษา มันก็อยู่ได้ ปรับตัวได้
ถึงอยู่มาได้เรื่อยๆ จนถึง 30 ปี แต่ก็ต้องเจอโรคหลายโรคสะสมอยู่เรื่อยสุดท้ายนักวิชาการมาสรุปว่า ศึกษาพันธ์ุใหม่ก็เอามาจากต่างประเทศบ้าง ก็เอามาผสมพันธ์ุ ให้ได้เมล็ด เพื่อนำเมล็ดมาทดลองใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่ 4-5 ปี แล้วแต่ เราก็จะได้พันธุ์ใหม่ซึ่งเกิดในเมืองไทย แสดงว่าพืชชนิดนี้ปรับตัวเข้าได้ดีแล้ว เช่น พันธ์ุพระราชทาน 70 พันธ์ุพระราชทาน50 พันธ์ุพระราชทาน 80 พันธ์ุที่เกิดในเมืองไทยจริงๆเลยที่ดอยปุย คือพันธ์ุพระราชทาน 60 พันธ์ุพระราชทาน 80


ถาม : เวลาเราเอาของจากต่างประเทศมา เราต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้เขาไหมคะ
ตอบ : เรื่องนี้เป็นความร่วมมือต่างประเทศบ้าง โดยเฉพาะไต้หวันเขาจะเอากิ่งพันธ์ุพวกนี้มาเปลี่ยนยอดต้นไม้พื้นเมืองของเรา เราศึกษาไปแล้วก็ใช้ไปเรื่อยๆ พืชบางชนิดที่ได้พันธ์ุมาศึกษาสำเร็จแล้ว บางทีเราก็จะใช้ชื่อเดิมของเขา

ถาม : หลังๆ ทางโครงการหลวงก็มีวิจัยของตัวเองด้วยแล้วทางสถานีวิจัยดอยปุยทำส่งให้ใครคะ
ตอบ : ทางเราแบ่ง 2 ส่วน ด้วยเป็นสถานีวิจัยราชการของ ม.เกษตรในฐานะที่เราตั้งสถานีวัตถุประสงค์ คือ เราต้องทำให้กับประชาชนโดยรอบรัศมีของสถานี ด้านบนฝั่งนี้ไม่มีโครงการหลวง เพราะมีทางสถานีเราดูแลอยู่ เราก็เรียกชาวบ้านมาอบรม เราได้ความรู้นี้มา เราก็ให้ไป ส่วนงานอีกส่วนหนึ่งก็คือ ถ้าเรามีวิจัย เช่น สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80เราก็ส่งเสริมให้โครงการหลวงต่อไป โครงการหลวงก็ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านทุกวันนี้บนอ่างขางทั้งหมดก็จะปลูกพันธุ์นี้

ถาม : การที่เราจะเอาพืชผักผลไม้เมืองหนาวเข้ามาวิจัย หรือเอามาทดลองปลูก เราเอามาจากไหน
ตอบ : พระองค์ท่านไม่จำกัดนักวิจัยและนักวิชาการ มีไอเดียอะไรได้หมด ยุคแรกๆ เราศึกษาไม้ผลกันเยอะ แต่พวกอาจารย์พวกนัก
วิจัย พวกนักศึกษาที่ออกไปเรียนต่างประเทศ เรียนหลายสาขากลับมาอยากช่วย บางคนจบไม้ดอกมาก็ลองเอาไม้ดอกไปปลูกดู มันก็ช่วยได้ ก็หาเงินให้กับชาวบ้านได้ บางคนจบผักมา เห็นกะหล่ำปลีปลูกบนดอยได้ดีชาวบ้านก็อยากได้ ก็ลองส่งเสริมดู ถ้าปลูกได้ดีก็ขออนุมัติ ทำเรื่อง เพราะทุกคนที่จะขึ้นไป หน่วยงานต้องลงทะเบียนกับโครงการหลวงเป็นอาสาสมัคร จากนั้นก็ขอพื้นที่ก่อน มีความรู้อะไรก็เอามาทดลอง บางครั้งถ้าเป็นนักวิจัย เขาจะเขียนโครงงานวิจัยแล้วก็ยื่นเสนอเอกสารโครงร่างให้กับโครงการหลวง โครงการหลวงจะมีนักวิจัยพิจารณาว่าผ่านหรือไม่ เมื่อผ่านแล้ว บางทีทางโครงการหลวงจัดสรรทุนไว้ให้ สมมุติว่าเขาจัดสรรทุน
ไว้ในปีนี้ สองร้อยล้าน คนนี้เขียนมาสามแสนห้าแสน ก็มีการอนุมัติจากชุดนี้ แล้วก็ให้ไปทำงาน ถ้าทำได้ผลก็เอามาส่งเสริม แต่ต้องผ่านกรรมการก่อนนะว่าควรส่งเสริมไหม ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านตั้งแต่ขั้นตอนให้วิจัยแล้วถ้าพืชนี้วิจัยได้เขาก็ต้องส่งเสริมกันต่อไป


ถาม : การผสมพันธุ์ที่ได้ลักษณะเด่นของแต่ละพันธุ์มาแล้วได้พันธุ์ใหม่แล้วจะยั่งยืนมั้ย
ตอบ : มันจะมีระยะเวลาของมัน โดยธรรมชาติมันจะไม่ยั่งยืน นักผสมพันธุ์ก็ต้องหาพันธุ์ใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ตอนนี้เริ่มมีพันธุ์แปลกๆ เข้ามา นักผสมพันธุ์จะเก็บลักษณะต่างๆ หลายๆ ด้าน ศึกษาจนกว่าจะได้ความนิ่งในทุกฤดูกาล จึงต้องใช้เวลามาก เรื่องลิขสิทธิ์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสมัยก่อนมีการปลูกผักสลัดเยอะมาก นักวิชาการผักจะปลูกผักเพื่อให้ออกดอกแล้วนำไปผสมพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ต่างๆ จะซื้อมาจากต่างประเทศในครั้งแรก หลังจากนั้นก็จะนำมาขยายพันธุ์เอง ปัจจุบันรายได้จากการปลูกผักของโครงการหลวงสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการท่องเที่ยว โครงการหลวงปลูกพืชผักในโรงเรือน ในขณะที่ชาวบ้านปลูกในพื้นที่ส่วนตัวโดยได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวง การปลูกพืชในโรงเรือนระบบปิดจะทำงานและควบคุมดูแลง่าย มีชาวบ้านเพียงบางส่วนที่สร้างโรงเรือนเอง
เมื่อผลิตได้แล้ว โครงการหลวงก็รับซื้อคืน ที่แม่โถมีชาวบ้านที่ปลูกผักโดยไม่เข้าเป็นสมาชิกโครงการหลวงเยอะมาก โดยขายผ่านพ่อค้าคนกลาง

ถาม : ในขณะที่โครงการหลวงพยายามควบคุมปริมาณการผลิตไม่ให้ล้นตลาด ให้สมาชิกมีรายได้สม่ำเสมอ และดูแลเรื่องการตลาดให้แต่กลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในโครงการหลวง มีจำนวนมากกว่าและจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า โครงการหลวงจะมีปัญหาหรือไม่
ตอบ : ปัญหาพวกนี้มีตลอดมาอยู่แล้ว หากชาวบ้านปลูกได้มากกว่าที่โครงการหลวงรับซื้อได้ ก็จะต้องขายกับพ่อค้าคนกลาง โดยโครงการหลวงไม่การันตี โครงการหลวงมีระบบอารักขาพืช โดยสุ่มนำพืชทุกอย่าง 5 เปอร์เซ็นต์มาตรวจหาสารเคมี หากเจอสารเคมีจะส่งคืน หากไม่พบสารเคมีก็จะติดตราโครงการหลวงเพื่อจำหน่ายต่อไป

ถาม : การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ทำลายดินหรือไม่
ตอบ : การปลูกพืชทุกอย่างทำลายดินหมด การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ขยายเป็นวงกว้างในปัจจุบัน นับเป็นปัญหาหนึ่งที่โครงการหลวงไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ การปลูกพืชหมุนเวียนเป็นการพยายามที่จะปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น พืชที่ช่วยในการปรับปรุงดิน คือ พืชตระกูลถั่ว อาจจะปลูกพืชเกษตร 1-2 ปี แล้วสลับด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว เรามีสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร สังกัด ม.เกษตร แก้ปัญหาระบบการปลูกพืช และสิ่งแวดล้อมบนที่สูง ในเมืองใหญ่ ในดินทราย

การศึกษาวิจัยในปัจจุบัน เปลี่ยนไปตามแหล่งทุนของการวิจัย ว่าต้องการวิจัยเรื่องอะไร เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร

สำหรับท่านที่อ่านแล้วยังสนใจใคร่รู้เรื่องราวความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสถานีวิจัยดอยปุยกับมูลนิธิโครงการหลวงเพิ่มเติม ก็แวะขึ้นไปเยี่ยมเยียนท่าน อ.วิสิฐ หรือ คุณนิภา หัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุย ได้ที่สถานีวิจัยดอยปุย หรือสนใจไปพักผ่อนนอนเล่นหนาวเย็นกลางไอหมอกแถมได้ความรู้หลากหลายเกี่ยวกับป่าไม้และงานเกษตร ที่สถานีวิจัยมีบ้านพักสวยงามใหม่เอี่ยมให้ไปเยี่ยมชมได้ทุกวัน

 

ขอขอบคุณ…
อ.วิสิฐ กิจสมพร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ม.เกษตรศาสตร์
คุณนิภา เขื่อนควบ นักวิจัยชำนาญการ หัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุย

เรื่องราวและภาพจาก…
สถานีวิจัยดอยปุย
ที่อยู่ : หมู่ 12 ถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 0 5321 1142[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".