[:TH]ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “หนองเขียว” (ดอกดองดึง)[:]

[:TH]

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2523เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ มาเยี่ยมราษฎร
ชาวเขาในพื้นที่ ทรงห่วงใยราษฎรซึ่งเป็นชาวเขาที่ยากจน สุขภาพอนามัยทรุดโทรม เด็กชาวเขาส่วนใหญ่เป็นโรคขาดสารอาหาร และยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขาหินปูน พื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดและลอนชันจึงมักพบหินปูนผุดขึ้นมาและมีหลุมยุบตัวกระจายอยู่ทั่วไป ไม่มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค จะมีก็แต่น้ำซับซึ่งปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของชาวเขา พระองค์ทรงช่วยเหลือและรับหมู่บ้านนี้ไว้ในโครงการหลวง

ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว” ขึ้น ทั้งนี้ศูนย์ฯ หนองเขียวมีหมู่บ้านใน
ความรับผิดชอบ คือ หมู่บ้านหนองเขียว (ลั๊วะ มูเซอ คะฉิ่น),หมู่บ้านหนองวัวแดง (ลีซอ), หมู่บ้านรินหลวง, หมู่บ้านใหม่
สามัคคี (อาข่า) และบ้านอรุโณทัย (จีนยูนนาน) ในท้องที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

27 กันยายน 2560
ก่อนถึง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว ตามรายทางที่ผ่านดอกไม้สีเหลืองหลายชนิดกำลังบาน เพื่อรอคอยวันที่ชาวไทยทั้ง
ประเทศจะได้ร่วมกันส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่สวรรคาลัย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560
ที่กำลังจะมาถึง ดอกไม้สีเหลืองสีประจำพระองค์ จะเป็นดอกอะไรก็ได้ยิ่งเป็นดอกไม้ที่แผ่กระจายได้ทั่วนา สร้างประโยชน์ให้ผืนดินยิ่งดูสวยงามยิ่งนัก “ดอกปอเทือง” ตามคันนาถูกนำมาประดับไว้ข้างทาง กำลังบานไสวไกวดอกสีเหลืองพลิ้วไปกับสายลม ก็ต้องแวะลงไปชื่นชมกันหน่อยละซิ

ถึงศูนย์ฯ หนองเขียว เวลา 13.00 น. หลังจากเลยไปบ้านอรุโณทัยที่อยู่ห่างไปประมาณ 1 กม. แวะทานบะหมี่จีนยูนนานที่โฆษณาหน้าร้านว่าถ้าไม่ชิมบะหมี่ร้านนี้ก็ยังไม่ถึงบ้านอรุโณทัย เขียนอย่างนี้แล้วไม่แวะชิมได้ยังไง ถึงฝนจะตกลงมาทันทีที่เปิดประตูรถก็เถอะ

ที่จริงศูนย์ฯ หนองเขียวตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ ใครไปอ่างขางผ่านไปมาต้องได้มีโอกาสเห็นตัวหนังสือสีเหลืองอันใหญ่ อ่านได้ว่า…หนองเขียว…นัดกับเจ้าหน้าที่ว่าเจอกันที่ที่ทำการเลย เลี้ยวรถเข้าไปเหมือนเข้าบ้านใครสักคน อาคารเรือนไม้น่ารักในร่มไม้ ดูอบอุ่นดี สนามด้านหน้าเป็นแปลงมะม่วงและอะโวคาโดที่ดูไม่ค่อยจะสดชื่น แต่เมื่อได้เห็นป้ายอธิบายพันธุ์แต่ละชนิดตั้งไว้เป็นจุดๆ ก็เลยเข้าใจแล้วว่า ต้นไม้วิจัยก็ไม่ค่อยสดชื่นและสวยงามอย่างนี้แหละ

แล้วก็ได้พบคุณไผ่ หรือ ว่าที่ร้อยตรีธวัชชัย ภูมิวงศ์ หัวหน้าศูนย์ฯ หนองเขียว คุณไผ่ดูเด็กและสดใสด้วยวัยหนุ่ม อัธยาศัยน่ารักจน
เราคาดไม่ถึงว่านี่คือหัวหน้าศูนย์ฯ ผู้ดูแลเกษตรกรหลายหมู่บ้าน หลังจากสอบถามความต้องการของเราว่า อยากมาขอความรู้เรื่องข้าวไร่ คุณไผ่ยิ้มสดใสแล้วแนะนำให้เราไปดู ดอกกลอริโอซ่า ดีกว่าไปดูข้าวนะครับพร้อมกับให้เราดูรูปภาพ คุณใหม่ (คุณสิริกิติยา เจนเซน) ท่ามกลางดอกกลอริโอซ่า แหม…ภาพนี้ประชาสัมพันธ์ได้ดีมากๆ เลย รีบไปดูดีกว่า

คุณไผ่เป็นนักวิชาการไม้ดอกไม้ประดับด้วย และตอนนี้กำลังส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกไม้ดอกนี้อยู่ พอพวกเราได้เห็นก็ร้องว่า อ๋อ…ดอกดองดึงบ้านเรานี่เอง แต่ทำไมดอกใหญ่กว่ากันแยะเลย ไม่รู้ชื่อภาษาต่างชาตินี้จะเหมาะกับเจ้าดอกไม้นี้เท่าชื่อภาษาไทยไหมนะ ก็ใครเข้าใกล้เพียงนิดมันจะส่งปลายมาสะกิดแล้วดึงเข้าไปเกี่ยวดองจนปลดกันแทบไม่ทันน่ะ


ที่แรกที่พวกเราได้ชม คือ อาคารรับผลผลิตประเภทไม้ดอกมีขนาดเล็กมาก แต่โปร่งโล่งเหมือนเป็นศาลานั่งเล่นของบ้าน มีดอก
กลอริโอซ่าที่คัดแล้วห่อด้วยพลาสติกใส ติดสติ๊กเกอร์เบอร์ผู้รับและผู้ส่ง(ตอนนี้เรารู้จักโค้ดเหล่านี้แล้ว) พร้อมส่งไปยังผู้ซื้อ อาคารนี้รับเฉพาะไม้ดอก ส่วนอาคารรับผลิตผลจะอยู่อีกที่หนึ่งต้องรับแยกจากกัน เนื่องจากไม้ดอกจะมีการพ่นสารเคมี อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนระหว่างผลผลิตที่เราบริโภคได้

ดอกกลอริโอซ่าที่หนองเขียวนี้ เริ่มมาจากสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ได้สายพันธุ์มาจากประเทศฮอลแลนด์ หรือเนเธอแลนด์
ชื่อพันธ์ุ G.rothschildiana ทำวิจัยปรับปรุงพันธุ์จนแข็งแรงแล้วก็ส่งมาให้ศูนย์ฯ หนองเขียวเอามาเพาะพันธุ์ต่อ เนื่องจากมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับดอกกลอริโอซ่ามากกว่า คุณไผ่ก็ต้องเพาะปลูกต่อมาหลายรอบ จนได้เมล็ดพันธ์ุถึงสามแสนเมล็ด แล้วนำออกส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นไม้ตัดดอกต่อไป

การปลูกดอกกลอริโอซ่านี้ ศูนย์ฯ หนองเขียวจะส่งเสริมให้ปลูกในโรงเรือนของศูนย์ฯ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ใกล้ชิด โดยแบ่งโรงเรือนให้เกษตรกรผู้สนใจเช่าครอบครัวละ 3 โรงเรือน รายได้เป็นอย่างไรเห็นได้จากใบหน้ายิ้มแย้มสดใส และเสียงร้องทักทายคุณไผ่อย่างยินดีจากผู้เช่าทุกรายแค่นี้ก็รู้แล้ว

ที่โรงเรือนปลูกดอกกลอริโอซ่าซึ่งไม่ไกลจากกันนักได้พบ ผู้เฒ่าไอเตา ใสสอ ที่พูดภาษาไทยยังไม่ค่อยรู้เรื่องแต่ก็พยายามอธิบายและแสดงการเพาะปลูกเลี้ยงดูต้นกลอริโอซ่าให้พวกเราดูอย่างน่ารัก แล้วฝนก็เทลงมาอย่างไม่เมตตาปราณี ดีนะที่ดอกดองดึงหรือกลอริโอซ่านี้อยู่ในโรงเรือนมิฉะนั้นกิ่งก้านคงหักเพราะทานน้ำหนักฝนไม่ไหว

หลังจากได้ความรู้มาพอสมควรคุณไผ่ก็ชวนไปอีกโรงเรือนหนึ่งที่อยู่ติดๆ กัน เพราะโรงเรือนของผู้เฒ่ามีดอกให้เราชมน้อย เนื่องจากเพิ่งตัดดอกไปเมื่อวาน

โรงเรือนนี้เป็นของ คุณประไพ ไอนัน มาถึงฝนก็หยุดพัก และที่นี่มีดอกมากกว่าจริงๆ เราเลยได้สอบถามและถ่ายภาพกันไม่ได้หยุด ดอกกลอริโอซ่าเมื่ออยู่ในป่าใกล้บ้านเรา เรียกดองดึง ก็คิดว่าสวยดีแต่ไม่ค่อยเห็นค่านัก เพราะเด็ดออกมาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ มาวันนี้ไม่ได้ใช้ชื่อไทยกลายเป็นดอกไม้แสนโก้ดอกใหญ่เอาไว้ปักแจกันหรูๆ ราคามิใช่ถูกๆ ไปเสียแล้ว

แต่กว่าจะมาสวยงามโดดเด่นขนาดนี้ได้ นักวิชาการไม้ดอกก็ต้องหาวิธีการที่จะเลี้ยงให้งามได้มาตรฐานแข่งขันกับไม้ดอกพันธุ์อื่น ขยายพันธุ์ให้มาก เพื่อครองตลาดกับเขาบ้าง มีอยู่หลายขั้นตอนเชียวแหละ

กลอริโอซ่าเป็นพรรณไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน การเพาะพันธุ์ทำได้2 วิธี คือ การเพาะจากเมล็ด และการเพาะจากหัว แต่การเพาะจากเมล็ดจะต้องใช้เวลานานกว่า ดังนั้นส่วนมากจึงใช้วิธีเพาะจากหัว

การเพาะเพื่อให้ได้กลอริโอซ่าดอกใหญ่สีสด ต้องอดทนจากหัวเล็กๆ เหมือนบูมเมอแรง ทำความสะอาดหัวแล้วแช่น้ำยาผึ่งให้แห้ง
แล้วแยกแง่งออกจากกัน เอาหมกในแกลบจนเกิดตุ่มที่เรียก “จุดเจริญ”ซึ่งต้องระวังอย่าให้มันหัก เพราะมันจะไม่แตกขึ้นใหม่ จากนั้นนำไปลงแปลงวางตามนอน ระวังให้ด้านมีจุดเจริญฝังลงในดิน เอาปุ๋ยหมักกลบด้านบน มันจะแทงยอดขึ้นมาเป็นต้น เมื่อเป็นต้นแล้วหัวแรกที่เกิดต้นจะฝ่อลงเกิดหัวใหม่สองแง่ง ซึ่งเมื่อได้เวลาก็นำมาหมุนเวียนขยายพันธุ์ต่อไป

การดูแล ไม้ชนิดนี้เป็นไม้เถา บริเวณปลายเถาจะมีลักษณะคล้ายเล็บที่ใช้เกี่ยว การเตรียมแปลงต้องเตรียมหลักและเชือกผูกเป็นระดับไว้หลายๆ ระดับห่างกันระดับละ 30 ซ.ม. เอาไว้มัดลำต้นที่เริ่มเลื้อยขึ้นของต้นกลอริโอซ่า เพื่อดัดให้ได้ลำต้นตรง ต้องคอยระวังยอดเกี่ยวพันของกันและกัน เมื่อตัดดอกก็จะได้ดอกที่มีก้านตรงตามมาตรฐานที่ต้องการ

การให้น้ำ ควรรดน้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ คือ วันอังคารกับวันศุกร์เพราะวันพุธกับวันเสาร์เป็นวันตัดดอกส่ง เนื่องจากหนองเขียวเป็นแหล่งที่มีน้ำน้อยจึงต้องดูแลการใช้น้ำให้ประหยัด สำหรับดอกกลอริโอซ่านี้คำนวณไว้ว่าหนึ่งสัปดาห์ใช้น้ำประมาณ 200 ลิตร ต่อ 1 โรงเรือน และเพื่อให้กะปริมาณการใช้น้ำได้ง่ายขึ้น ทุกโรงเรือนจะมีถังไว้เก็บน้ำขนาด200 ลิตร เพื่อใช้สำหรับ 1 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันทางโครงการได้ติดมิเตอร์เอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายของเกษตรกร

นอกจากส่งเสริมดอกกลอริโอซ่าแล้วก็ยังมีไม้พันธุ์หัว เช่นว่านสี่ทิศ ที่นี่ปลูกว่านสีแดงดอกใหญ่

ตั้งใจจะมาหาความรู้เรื่องข้าวไร่ว่าเป็นอย่างไร….แต่ฝนตกทุกวันเจ้าหน้าที่เกรงว่าเส้นทางเข้าไปจะลำบาก เราจึงได้ไปดู สวนอะโวคาโดที่หมู่บ้านบริวารแทน (หมู่บ้านบริวาร คือ หมู่บ้านที่ไม่ได้อยู่ในเขตความรับผิดชอบของศูนย์ฯ หนองเขียว แต่ชาวบ้านได้ขอให้ศูนย์ฯ เข้าไปช่วยดูแล)

หมู่บ้านบริวารนี้อยู่ที่ บ้านเมืองนะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาวออกจากพื้นที่ไปไกลเหมือนกัน สวนนี้ดูรกด้วยอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนพืชบาง
อย่าง จึงปล่อยให้ต้นที่ไม่ต้องการแล้วหลายต้นโทรมไป รอเวลาปรับเปลี่ยน

เนื่องจากปัจจุบันอะโวคาโด เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูงโครงการหลวงจึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก อะโวคาโดเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากนักและเป็นไม้ไม่ผลัดใบจึงเขียวตลอดปี สามารถปลูกทดแทนป่าได้ที่หมู่บ้านนี้ก็มีต้นอะโวคาโดอยู่แล้ว จึงใช้เป็นต้นตอนำพันธุ์ของโครงการหลวงมาต่อยอดได้เลย คุณประเสริฐ จอมดวง นักวิชาการไม้ผลของศูนย์ฯหนองเขียว รับผิดชอบดูแลแนะนำ ทั้งการใส่สารใส่ปุ๋ยตามเวลาที่เหมาะสมทั้งการเก็บเกี่ยวที่จะไม่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด

คืนนี้ได้ร่วมรับประทานอาหารกับท่าน รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ผู้อำนวยการศูนย์ฯ หนองเขียว เป็นบรรยากาศที่แปลกและแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะนอกจากจะได้รับเลี้ยงอาหารค่ำแล้ว ยังได้มีโอกาสฟังและออกความคิดเห็นในงานของโครงการหลวงได้ ทำให้บรรยากาศอบอุ่น เหมือนกลับไปเป็นนักศึกษาได้ออกไปทัศนศึกษากับอาจารย์ แม้จะเป็นฝ่ายถูกถามมากกว่าเป็นผู้ถามอย่างที่ตั้งใจมา แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้เรื่องราวของโครงการหลวงในอีกแง่มุม ด้วยคำถามที่ต้องตอบด้วยความเต็มใจ

เรื่องราวของไก่ดำ ทำให้ได้รู้ว่า ศูนย์ฯ หนองเขียว ไม่ได้มีหน้าที่แค่ดูแลให้เกษตรกรผลิตผลผลิตได้มาตรฐานตามส่วนกลางเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลและพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนเลี้ยงครอบครัวจากการปลูกพืชผัก ไม้ผล ทำให้เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอเป็นรายเดือน การเลี้ยงสัตว์ทำให้ขายได้เป็นเงินก้อน แต่การเลี้ยงสัตว์ของโครงการหลวงไม่ใช่การเลี้ยงแบบฟาร์ม ดังนั้นการซื้อขายจึงไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน เช่นการนำไก่ดำมาให้สมาชิกเกษตรกรเลี้ยง ก็ด้วยหวังตลาดเล็กๆ ของหมู่บ้านใกล้กัน เมื่อไม่ได้ตลาดอย่างที่ต้องการ ก็กลายเป็นปัญหาปวดหัวของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องปรึกษาหาวิธีแก้ไขให้เกษตรกร

หรือการที่จะสร้างรายได้เพิ่มในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ควรส่งเสริมอย่างไรบ้าง และจุดนี้เองที่ทำให้เราได้เห็นการปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าเพื่อสร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว มาในระยะนี้ได้เห็นการเตรียมการเพื่อการท่องเที่ยวของโครงการหลวงทุกแห่ง อยากให้นักท่องเที่ยวได้เห็นความตั้งใจของผู้ทำบ้างจังเลย กว่าจะเป็นสถานที่สวยงามให้นักท่องเที่ยว“เซลฟี่กันสนุกสนาน” ต้องร่วมกันกี่สายงาน ต้องสร้างฝันกันแค่ไหน

เพราะผู้ทำ ทำด้วยความอยากเห็นความสุขของผู้มาเที่ยว ความสุข ที่ไม่ทำลายสิ่งใด เป็นความสุขของทั้งผู้เที่ยวและผู้ทำ

ดูเหมือนงานของโครงการหลวงจะถักทอเป็นร่างแหปกแผ่ไปทั่วแผ่นดิน

28 กันยายน 2560
เมื่อคืนหลับสบายกับสายฝนที่โปรยปรายเกือบทั้งคืน เช้านี้ได้เดินสำรวจพื้นที่ของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว

ศูนย์นี้เหมือนตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ด้วยถนนที่ตัดกันไปมาเป็นสี่เหลี่ยม ตัวศูนย์ฯ กับโรงเรือนหรืออาคารรับผลผลิต แยกกันอยู่ไม่ต่อเนื่องบ้านเรือนของชาวบ้านที่ล้อมรอบมีขนาดใหญ่และสร้างไว้อย่างดี นึกภาพไม่ออกว่าผู้คนแถวนี้หรือ ที่เป็นสมาชิกเกษตรกรที่ศูนย์ฯ หนองเขียวกำลังดูแลอยู่ทุกบ้านดูมีฐานะ มีรั้วรอบขอบชิดผิดกับบ้านชาวเขาที่เรารู้จัก

แวะร้านอาหารของโครงการทานอาหารเช้าซึ่งเป็นข้าวต้มร้อนๆกับกับข้าว แม้ไม่นึกอยากทานข้าวแต่เห็นกับข้าวง่ายๆ สไตล์บ้านๆ แล้วก็ต้องตักข้าวต้มควันกรุ่นมาทานให้ท้องอุ่น แล้วค่อยออกเดินทาง

เช้านี้ที่ศูนย์ฯ หนองเขียว ผอ.และเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ มีการประชุมร่วมกับหัวหน้าชุมชนเรื่องเกี่ยวกับการใช้น้ำ แต่ ผอ.ก็ยังจัดให้พวกเราได้ไปดูนาข้าวที่หมู่บ้านบริวารอีกแห่งหนึ่งที่ บ้านปางเบาะ ตำบลทุ่งข้าวพวง

ว่าที่ร้อยตรีกิตติพงษ์ บุญธิ หรือคุณปู นักวิชาการพืชไร่เป็นไกด์ของเราในเช้าวันนี้ เส้นทางจากถนนใหญ่เข้าไปแม้จะไม่สูงชันไม่มี
หลุมบ่อดักล้อเรา แต่ทางแคบแสนแคบแค่สวนกับคนเดินก็ยังไม่ได้ทำให้หวาดเสียวพอควร และได้พบ คุณประสี ไอนัน กับ คุณวีรภัทรจะอือ ไม่แน่ใจว่าได้รับคำแนะนำว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือเปล่า แต่ยังดูหนุ่มจนเราไม่แน่ใจ อาจฟังผิดไปก็เป็นได้

หลังจากนั้นก็เล่าให้ฟังว่าหมู่บ้านนี้อยู่นอกเขตดูแลของโครงการหลวงเดิมปลูกพืชไร่ขายพ่อค้าทั่วไป เวลาเกิดปัญหาการเพาะปลูกไม่มีใครแนะนำดูแล รายได้ไม่สม่ำเสมอ ถูกกดราคาและบางครั้งพ่อค้าไม่ยอมรับผลผลิต และพวกเขาก็ไม่รู้จะเอาผลผลิตไปขายที่ไหน ทำให้ทุกคนขาดรายได้ ไม่สามารถอยู่กันได้ ข้าวที่ปลูกไว้กินบางปีก็ได้ผลผลิตไม่เพียงพอต้องหาเงินไปซื้อข้าวเขามากิน ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่าย เห็นเพื่อนที่อยู่หมู่บ้านในความดูแลของโครงการหลวง สามารถปลูกพืชผักและข้าวได้ตลอดปี ทุกหมู่บ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลยไปขอให้โครงการหลวงมาช่วยแนะนำดูแลปรับเปลี่ยนผลผลิตให้

ทางศูนย์ฯ หนองเขียว ก็ได้ค่อยๆ เปลี่ยนผลผลิตให้ มาประมาณ 1 ปีแล้ว เนื่องจากบริเวณหนองเขียวนี้มีปัญหาเรื่องน้ำ เพราะภูเขาที่นี่เป็นหินปูนไม่มีน้ำใต้ดิน ต้องคอยกักเก็บน้ำฝนไว้สำหรับใช้ทั้งปี ดังนั้นพืชพันธุ์ที่เหมาะกับที่นี่ต้องเป็นพืชที่ไม่ใช้น้ำมาก เช่น มะม่วง อะโวคาโด ตอนนี้โครงการหลวงก็นำมาให้เจ้าของค่อยๆ ปลูกแทรกลงไปในร่องพืชผักระหว่างคอยก็ปลูกถั่วอะซูกิ (ถั่วแดงญี่ปุ่น) ปลูกฟักทองญี่ปุ่นเป็นผลผลิตส่งโครงการหลวงไปก่อน

ส่วนต้นข้าวนั้นนำพันธุ์ข้าวไร่มาให้ทดลองปลูก เพราะทุกวันนี้ที่นี่ปลูกข้าวโดยไม่มีการคัดพันธุ์ มีข้าวหลายพันธุ์ขึ้นปะปนกัน เวลาเติบโตข้าวก็สูงไม่เท่ากัน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวสุกไม่เท่ากันเพราะคนละพันธุ์ ทำให้เกิดผลเสียหายมากได้ข้าวไม่พอกิน ทางโครงการหลวงมีข้าวไร่ที่วิจัยแล้วว่าเหมาะกับการปลูกบนพื้นที่ลาดเชิงเขาที่ไม่ค่อยมีน้ำ และการลงกล้าลงเพียง3 ต้น ก็จะแตกกอได้ใหญ่เท่ากับของเดิมที่ลงกล้าทีละ 7-8 ต้น คุณปูชี้ให้ดูกอข้าวที่แตกต่างกัน

นั่นซิ…เราถึงสงสัยว่าทำไมข้าวในนานี้ไม่สวยเหมือนที่เคยเห็น ต้นข้าวที่เคยโน้มตัวด้วยอุ้มรวงข้าวหนักส่ายตัวพลิ้วไหวในสายลมหายไปไหนทำไมวันนี้จึงยืนตรงดูขาดระเบียบวินัย แต่ละกอสูงต่ำไม่สม่ำเสมอ

สำหรับปัญหาการขาดน้ำนั้น ทางโครงการหลวงกำลังส่งเสริมการสร้างแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกรในหมู่บ้าน ให้พอเพียงกับการดูแลพืชไร่

กลับมาที่ศูนย์ฯ หนองเขียว ได้มีโอกาสเดินดูพื้นที่หน้าศูนย์ฯที่คุณไผ่กำลังจะจัดเตรียมสวนอันสวยงามไว้ต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว
เหมือนปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นว่าสองข้างทางเข้าศูนย์ฯ นี้ คือ “ป่าชาวบ้าน”เป็นต้นไม้ที่ไม่ใหญ่นักแต่ก็ดูร่มรื่นดีและก็คิดว่าดีนะ รักษาไว้เป็นแหล่งให้คนมาเดินดูดอกไม้ของคุณไผ่ แล้วยังได้รู้จักป่าชาวบ้านว่าเป็นเช่นใดเมื่อเดินไปจนสุดพื้นที่สวนก็ได้พบ “เตาเผาถ่าน” ที่ดูน่าสนใจมากๆคิดว่าสวนของคุณไผ่นี้มีจุดน่าสนใจมากพอที่จะสร้างเป็นที่ท่องเที่ยวเล็กๆ ได้จริงๆ นะ จากนั้นเราก็จะเดินเป็นวงกลมผ่านดอกไม้สวยๆกลับไปที่ร้านอาหาร

หลังจากเดินจนครบได้ภาพในความคิด ประกอบกับภาพถ่ายในมือถือของคุณไผ่ที่ให้ดูสวนที่จัดไว้เมื่อปีที่แล้ว ก็อยากให้สวนสวยๆ
นี้เสร็จเร็วๆ แล้วเราจะกลับมาชมพร้อมเก็บภาพแห่งความสุขไว้

เคยได้ยินแต่ป่าชุมชน เพิ่งเคยได้ยินคำว่า “ป่าชาวบ้าน” มีเอกสารบอกเล่าไว้ว่า “ป่าชาวบ้าน” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมศูนย์ฯ แกน้อยอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทรงทราบปัญหาการขาดแคลนไม้ฟืนของเกษตรกร จึงโปรดให้มีการปลูกป่าไม้โตเร็วเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนโดยทรงรับเป็นองค์อุปถัมถ์โครงการป่าชาวบ้านของมูลนิธิโครงการหลวงในปี พ.ศ.2538 ศูนย์ฯ หนองเขียวเริ่มดำเนินการโครงการป่าชาวบ้านเพียง 12 ปีผ่านไป ในปี พ.ศ.2550 ศูนย์ฯ หนองเขียวก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้บนพื้นที่สูงด้านการปลูกป่าชาวบ้าน”

เมื่อมีการปลูกป่าเพื่อหาไม้ทำฟืน ก็ต้องมีเตาสำหรับเผาไม้ฟืนให้เป็นถ่าน “เตาอิวาเตะ” เป็นเตาเผาถ่านขนาดใหญ่ มีต้นแบบมาจาก
ประเทศญี่ปุ่น สร้างโดยใช้ดินเหนียวที่หาได้ในท้องถิ่นมาเผา เตานี้ผลิตถ่านคุณภาพสูงได้ดีเยี่ยม ทำให้ลดการใช้ถ่านลงไปได้ ผลพลอยได้จากการเผาถ่านด้วยเตาชนิดนี้ คือ เก็บน้ำส้มควันไม้สำหรับรดผักใช้ไล่แมลงได้มากกว่าและมีคุณภาพดีกว่าเตาเผาชนิดอื่น

จากที่ได้รู้ว่าที่นี่มีปัญหาเรื่องน้ำ แต่ก็สงสัยว่ามีบึงน้ำใหญ่ๆ ตั้งหลายบึงแล้วการขาดน้ำคืออะไร ในที่สุดก็ได้เข้าใจว่าการขาดน้ำบาดาลทำให้ที่นี่ต้องพึ่งแต่น้ำฝน เมื่อไม่มีฝนก็ไม่มีน้ำเพราะเหตุนี้เอง เราจึงเห็นบ่อเก็บน้ำฝนใหญ่ๆ หลายๆ บ่อซึ่งกลายเป็นสถานที่พักผ่อนของคนแถวนี้ไปในตัว

อ่างเก็บน้ำในหมู่บ้านอรุโณทัย ขนาดใหญ่ และยังเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจไว้ตกปลาในวันอาทิตย์

อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน สร้างเพื่อสนับสนุนศูนย์ฯหนองเขียว ขนาด 81×81 เมตร สูง 4 เมตร เท่ากับ 25,000 ลูกบาศก์เมตร
ขึ้นไปยืนบนปากอ่างธรรมชาติงดงามดีแต่ก็ดูน่ากลัวเกินกว่าจะเข้าใกล้ได้เห็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่บางปีก็มีมาล้นเหลือจนเป็นบึงน้อยๆบางปีก็หายไปเช่นบึงที่ “หนองวัวแดง”


อ่างน้ำซับ ก่อนถึงศูนย์ฯ หนองเขียว เป็นอ่างธรรมชาติเก็บกักน้ำได้เฉพาะหน้าฝน เมื่อมีน้ำบริเวณนี้จะเหมือนสวนพักผ่อนที่น่าเดินเล่นมากๆ

ตกบ่าย ผอ.ประชุมกับเจ้าหน้าที่ทุกคน พวกเราเลยไม่มีโอกาสร่ำลาและขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่นของทุกท่าน พร้อมความรู้เรื่องไม้ดอก และการทำงานเพื่อเกษตรกรอย่างแท้จริง นอกจากความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่แล้ว เรายังรู้สึกว่าเราได้มากกว่าเรื่องราวที่เรามาค้นหา เหมือนได้สัมผัสสิ่งที่เป็นนามธรรม

สิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของทุกคนที่ทำให้ผู้มาเยือนอย่างเรารู้สึกอบอุ่น และมั่นคง คงเป็นความรู้สึกเดียวกับสมาชิกเกษตรกรที่จะรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยที่ได้อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว

สวนหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “หนองเขียว”
ฤดูกาลท่องเที่ยวก่อนขึ้นดอยอ่างขาง พักสักนิดแล้วจะติดใจ ชิมกาแฟสักหน่อย รับรองอร่อยจริงๆ สั่งอาหารบ้านๆ ทานสักคนละจาน ระหว่างรอคอยค่อยเดินไปถ่ายภาพ ชมสวนสวยๆ สีสันสดใส หรือจะสนใจศึกษาป่าชาวบ้าน ยังมีเตาเผาถ่าน อิวาเตะ ให้สนใจได้ความรู้ ได้ความสุขกายสุขใจ ได้อิ่มสบายแล้วค่อยเดินทางต่อไป

บ้านคะฉิ่น
คุณอนุชาติ ลาพา ผู้นำชุมชนวัฒนธรรมคะฉิ่นพาเราชมวัฒนธรรมคะฉิ่น ชุมชนคะฉิ่นเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของหนองเขียว ผู้นำพาเรามารู้จักเสามะหน่าว เสานี้มีนกเงือกเป็นสัญญลักษณ์ เพราะนกเงือกเป็นสัตว์รักเดียวใจเดียว (อันนี้ตีความหมายไม่ออกนะว่าสื่อถึงอะไร) แต่ก็ดูว่าเสามะหน่าวนี้มีลักษณะและลวดลายใกล้เคียงกับงานพวกอินเดียนแดงเลย

เสามะหน่าว ตั้งอยู่กลางสนามติดกับอาคารสำนักงานของ ศูนย์ฯหนองเขียว ตำแหน่งของเสามะหน่าว คือ ตำแหน่งที่เฮลิคอปเตอร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จมาที่ศูนย์ฯ หนองเขียว ชนเผ่าคะฉิ่นมีความเชื่อว่าการเต้นรำรอบเสามะหน่าวนี้เป็นการเชื่อมกันระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ ใช้เวลาในการเต้นนานกว่า 2 ชั่วโมง หากใครเข้าไปในวงเต้นรำแล้วจะต้องเต้นไปจนจบ ห้ามออกก่อน ถือเป็นประเพณีที่เข้มงวดจริงจัง

ที่หนองเขียวจะจัดงานเฉลิมฉลองนี้ขึ้นทุกๆ 2 ปี ในช่วงวันที่ 4 – 7 ธันวาคมเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงให้ที่อยู่อาศัยให้ที่ทำกินกับชาวคะฉิ่น

จากนั้นก็ได้ไปดู บ้านคะฉิ่น ที่สร้างโดยไม่มีฐานรากใดๆ เสาตั้งอยู่บนหินเท่านั้น จะดูการทอผ้าของคะฉิ่น แต่ไม่เจอใคร มีแต่หูกทอผ้ากับผ้าที่ทอทิ้งไว้ เห็นผลงานบนหูกแล้วอยากให้เจ้าของผ้ากลับมาทอให้ดูจัง ดูเหมือนหูกที่นี่จะมีแขนขามากมายแตกต่างจากที่เคยเห็นๆและดูลายผ้าที่ทอทิ้งไว้ก็สวยงามอยากรู้ว่าถ้าเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร

ได้แวะดูหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับศูนย์ฯ หนองเขียวดูแล้วไม่สามารถบอกความแตกต่างของแต่ละหมู่บ้านได้ ปัจจุบันทุกชนเผ่าหลอมรวมกันเป็นคนไทยต่างกันแค่เชื้อสายเท่านั้น

บ้านอรุโณทัย
บ้านคนจีนยูนนานตีนดอยก่อนขึ้นอ่างขาง เดิมเป็นที่อยู่ของทหารจีนฮ่อ ทุกวันนี้ที่อยู่และความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านยังมีความ
แตกต่างจากคนไทยและคนไทยภูเขา ในหมู่บ้านนี้ทุกคนยังใช้ภาษาจีนเป็นภาษาหลัก ดังนั้นถ้าอยากได้บรรยากาศแตกต่างจริงๆ ก็ต้องมาที่บ้านอรุโณทัยนี่แหละ แล้วเราจะรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ต่างแดน ยกเว้นร้าน 7-11 แล้ว ทุกอย่างยังคงทำให้เรารู้สึกว่าได้มาเที่ยวหมู่บ้านคนจีนโบราณจริงๆ

ขอขอบคุณ
รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ผอ.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
ว่าที่ร้อยตรีธวัชชัย ภูมิวงศ์ (ไผ่) นักวิชาการไม้ดอก
อ.ประเสริฐ จอมดวง นักวิชาการไม้ผล
ว่าที่ร้อยตรีกิตติพงษ์ บุญธิ (ปู) นักวิชาการพืชไร่
คุณอนุชาติ ลาพา ผู้นำวัฒนธรรมเผ่าคะฉิ่น
คุณบัณฑิต คล่องกระโจนคีรี เจ้าหน้าที่งานป่าชาวบ้าน/สังคม

เรื่องราวและภาพจาก…
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
ที่อยู่ : บ้านใหม่สามัคคี หมู่ 10 ตำบลเมืองนะ
อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170
โทร 0 5304 5600 หรือ 08 6181 6675[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".