[:TH]ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “ม่อนเงาะ” (ดอกซิมบิเดียม)[:]

[:TH]

พ่อหลวงหื่อ เส่งหล้า ประธานกลุ่มท่องเที่ยวม่อนเงาะเล่าเรื่องราวตั้งแต่การก่อเกิดศูนย์ฯ นี้ จากสมัยที่ม่อนเงาะยังเป็น
ดอยฝิ่น พ่อหลวงเป็นเกษตรกรอาสาสมัครชาวไทยภูเขา และเมื่อปี 2522 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์
แม่แฮ เห็นชาวเขาที่นั่นมีเงินมีทองใช้ มีรถยนต์ขับ หลังจากที่มีมูลนิธิโครงการหลวงมาดูแลเพียงไม่นาน พ่อหลวงอยากให้ฝิ่นหมดไปจากหมู่บ้านบ้าง ในปี 2527 จึงได้ไปปรึกษากับทางอำเภออยากจะขอเข้าเป็นสมาชิกของโครงการหลวงต้องทำอย่างไร ได้รับคำ
แนะนำให้ทำเรื่องเข้าไป ทางอำเภอจะส่งเรื่องให้แล้วติดตามต่อเองในปี 2528 มูลนิธิโครงการหลวงก็เข้ามาดูแล

เริ่มแรกเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ มันอาลู สาลี่ บ๊วยผักกาดหางหงส์ ผักกาดหอมห่อ ในที่สุดฝิ่นก็หมดไปจากดอยใน
ปี 2535 หลังจากการพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิต การดูแลรักษาป่าและต้นน้ำลำธาร จนเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คน นับเป็นหมู่บ้านที่มี
ความเข้มแข็ง ทางโครงการหลวงก็แนะนำให้รวมกลุ่มการท่องเที่ยวเป็นการสร้างมูลค่าให้กับหมู่บ้าน
ม่อนเงาะเริ่มเปิดการท่องเที่ยวปี 2552 ปีเดียวกับม่อนแจ่มโปรแกรมการท่องเที่ยวธรรมชาตินี้ ชาวบ้านจะจัดเองและดำเนิน
การกันเอง ทางศูนย์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำทั้งในการดำเนินงานและการตลาด

3 ตุลาคม 2560
ก่อนขึ้นศูนย์ฯ ม่อนเงาะ ต้องยอมรับว่าเคยได้ยินแต่ชื่อเสียง“ม่อนเงาะ” จากไร่ชาของลุงเดช ควบคู่กับความงามของม่อนแจ่มมา
หลายปีแล้ว ขึ้นมาแล้วก็ไม่ผิดหวังทางศูนย์ฯ ม่อนเงาะ แจ้งไว้ว่าอย่ามาค่ำ พวกเราก็มาเกือบค่ำ ทางไม่โหดเป็นถนนลาดยาง แต่คดเคี้ยวต้องเลี้ยวแบบชันและค่อนข้างแคบน่าหวาดเสียวถ้ามีรถสวนมา และถ้าค่ำแล้วคงอันตรายเหมือนคำเตือน

4 ตุลาคม 2560
6 โมงเช้าหมอกลงหนา จะไปดูพระอาทิตย์ขึ้น ตื่นรอ อ.เกรียง(คุณเกรียงศักดิ์ นามวงศ์พรหม) รองหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการ
หลวงม่อนเงาะตามนัด อาจารย์มาพร้อม พี่เหนก (คุณจักรกฤษณ์ ก้อนแก้ว) เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม และประสานงาน พานั่งรถลัด
เลาะขึ้นไปตามถนนแคบๆ ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ แล้วทางก็แคบลงๆ เมื่อถึงจุดหมายพระอาทิตย์ก็ขึ้นไปแล้ว แต่ก็ได้สดชื่นกับทะเลหมอกที่ดูหนาหนักอย่างน่าชื่นใจ เพราะแสดงว่าป่าที่นี่ซับน้ำไว้มากมาย จึงคายไอน้ำออกมายามต้องแสงอุ่นๆ ของดวงอาทิตย์ยามเช้าได้มากมายขนาดนี้

อาจารย์พาแวะคุยกับ พ่อหลวงหื่อ เส่งหล้า ประธานกลุ่มท่องเที่ยวม่อนเงาะที่บ้านพ่อหลวง ในหมู่บ้านที่ผ่านมาตอนขาขึ้น ได้รู้ว่าเมื่อก่อนโครงการหลวงตั้งอยู่ในหมู่บ้านนี้เช่นกัน แต่เมื่อต้องเป็นศูนย์กลางดูแลหลายหมู่บ้าน ดูแล 3 ตำบล 7 หมู่บ้าน 17 หย่อมบ้าน จึงย้ายลงไปอยู่ที่พวกเราพักเมื่อคืน

ในปี พ.ศ. 2552 ระยะแรกก็ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟและพืชผักหลายชนิด กาแฟเป็นผล เรียกว่าเชอรี่ ต้องเอามาปอกเปลือกล้างน้ำ ตากแห้งจนได้ส่วนที่เรียกว่า “กะลา” แล้วจึงส่งให้โครงการหลวงไปสี เอาเปลือกขาวๆ ออกจนได้เมล็ดดำๆ ซึ่งเรียก “สารกาแฟ”กาแฟที่ส่งไปโครงการหลวงจะใช้ชื่อ “กาแฟดอยคำ” เมื่อเหลือจากส่งโครงการฯ จะเก็บบางส่วนขายให้หมู่บ้าน ใช้ชื่อ “กาแฟม่อนเงาะ”

การส่งเสริมการท่องเที่ยว ยิ่งทำให้เกิดประโยชน์กับหมู่บ้าน ชาวบ้านมีรายได้เสริม มีการจ้างงานมากขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เช่นการถางหญ้าบนจุดชมวิวม่อนเงาะ การขนน้ำขึ้นไปใช้ในช่วงท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเมื่อมีคนเข้ามาเที่ยว ชาวบ้านก็เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำกันมา เริ่มมีการอนุรักษ์มากขึ้น

นอกจากธรรมชาติแล้ว ยังมีการนำวิถีชีวิตของชนเผ่ามาแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม รายได้จากการเปิดการท่องเที่ยวจะรวมสรุปยอดเป็นรายปีแล้วจัดแบ่ง 10% เป็นกองทุน สำหรับเป็นสวัสดิการเวลาเจ็บป่วยหรือไปศึกษาดูงาน หรือทำสาธารณประโยชน์ให้กับหมู่บ้าน

ในหมู่บ้านมีโฮมสเตย์ 8 หลังต่อ 8 ครอบครัว จะมีการประเมินมาตรฐานทุก 3 ปี ราคา 450 บาทต่อคน รวมอาหาร 2 มื้อ มีอุปกรณ์ปิ้ง
ย่างให้ สามารถเตรียมวัตถุดิบมาปิ้งย่างได้เองพ่อหลวงบอกว่า ถ้าเป็นช่วงท่องเที่ยวพ่อหลวงก็จะขึ้นไปประจำตรงจุดกางเต็นท์ ที่นั่นจะมีร้านค้าชุมชน ไปชงกาแฟให้นักท่องเที่ยวและขายผลิตภัณฑ์กาแฟแบรนด์ม่อนเงาะ แต่สำหรับพวกเราไม่ต้องคอยถึงฤดูกาลท่องเที่ยวก็ได้ชิมกาแฟม่อนเงาะฝีมือพ่อหลวง พร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจ


ที่หมู่บ้าน ยังมีโรงเรือนเพาะไม้ดอกของศูนย์ฯ ม่อนเงาะตั้งอยู่ เป็นโรงเรือนสำหรับให้ชาวบ้านเช่าปลูกไม้ดอก ตามการส่งเสริมของศูนย์ฯซึ่งที่ศูยน์ฯ ม่อนเงาะนี้จะส่งเสริมให้ปลูกดอกกล้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากที่ม่อนเงาะมีสภาพอากาศที่เหมาะกับกล้วยไม้ โดยเฉพาะพวกฟ้ามุ่ยซึ่งนับเป็นกล้วยไม้ที่ขึ้นในป่าแถบนี้ โรงเรือนแรกที่เข้าไปเป็นดอกกล้วยไม้ดิน

ดอกซิมบิเดียม
เป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงนำมาปลูกเลี้ยงบนที่สูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เพื่อศึกษาและทดลองว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกตัดดอกขาย โดยนำพันธุ์จากต่างประเทศ ได้แก่ฝรั่งเศส ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ ปรากฏว่าสามารถปลูกเลี้ยงและให้ผลผลิตได้ดี ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่ออกดอกเพียงปีละครั้ง
ซิมบิเดียมแต่ละชนิดจะทยอยออกดอกตั้งแต่ปลายฝนไปจนถึงต้นฤดูร้อน
โชคไม่ดีที่เรามาตอนที่ดอกเพิ่งจะเริ่มออก จึงมีให้ดูไม่มากนัก

การขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแบ่งกอ การปลูกตะเกียง สำหรับการปลูกทั่วไปนิยมแบ่งกอมากกว่าวิธีอื่นแต่หากปลูกจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพราะจะลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ แต่ก็ให้ผลช้าประมาณ 3-5 ปีจึงจะให้ดอก แต่ถ้าขยายโดยการแบ่งกอ เพียงปีแรกก็สามารถออกดอกได้แล้ว

ดอกซิมบิเดียม มีสีสันสดใสและหลากหลาย มีรูปดอกที่แตกต่างกันตามสายพันธุ์ดอกซิมบิเดียมเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ทั้งยังคงทนในการปักแจกัน จึงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่สร้างรายได้สูงให้กับชุมชน โรงเรือนหนึ่งๆ ชาวบ้านสามารถตัดดอกส่งโครงการหลวงมีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ที่ศูนย์ฯ ม่อนเงาะ ส่งเสริมให้ขายแบบตัดดอกโดยตัดขายเป็นช่อ คิดราคาตามดอก ดอกละ 7-15 บาท

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูก ดอกรองเท้านารี และ ดอกฟ้ามุ่ย ซึ่งอาจารย์เล่าว่าม่อนเงาะเป็นแหล่งของกล้วยไม้พื้นบ้านพันธุ์ฟ้ามุ่ย มีขึ้นตามป่าแถบนี้ฟ้ามุ่ยที่ม่อนเงาะ นอกจากจะมีเยอะแล้วยังมีสีสดใสสวยงามกว่าที่อื่นๆ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมได้ภายในโรงเรือน หากต้องการให้มีเจ้าหน้าที่พาชม และอธิบายด้วย ก็แจ้งให้ทางศูนย์ฯ ม่อนเงาะทราบได้

กลับมาทานอาหารเช้า แล้วเข้าห้องเลคเชอร์ เพราะฝนตกออกไปไหนไม่ได้ ฟังเลคเชอร์จบฝนก็หยุดพอดี

อาจารย์เกรียงพาออกมาชมไร่ “ฟักทองเข้าแถว” ที่ “บ้านกิ่วป่าหอบ” ฟังชื่อแล้วอยากเห็นว่าเป็นอย่างไร แม้เส้นทางจะโหดเพราะฝนเพิ่งผ่านไป แต่มองไปทางไหนก็เห็นแต่แปลงผักเป็นเส้นสีเขียวสลับแนวกันไปมาเน้นเส้นเนินให้เห็นชัดขึ้น เป็นความแปลกตาของธรรมชาติที่ผสมผสานกับฝีมือมนุษย์ ความงามที่เราไม่ค่อยมีโอกาสพบ

น่าแปลกใจที่ฟักทองในไร่แถบนี้ดูมีอายุไล่กันไป จากลูกเล็กไปจนถึงลูกที่ใกล้เก็บได้ นี่คือวิธีการควบคุมผลผลิตให้ออกไม่ตรงกัน เป็นการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยวิธีการเช่นนี้ ทำให้ทุกคนได้สิทธิเท่าๆกัน เกิดความสามัคคีพวกเขาได้มีโอกาสช่วยเหลือกันทั้งการปลูกและการเก็บ ชาวบ้านจะปลูกไล่ๆ กันไป โดยเอามื้อการปลูก และการเก็บผลผลิตก็จะเข้าสู่โครงการไล่กันไปได้ตลอดปี ไม่เกิดผลผลิตเหลือจนต้องหาตลาดรองรับเพิ่ม

การปลูกฟักทองมีทั้งการขึ้นค้างและทำแปลงให้เลื้อยลงไปด้านล่างการเลือกวิธีปลูกขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ที่นี่สภาพพื้นที่เป็นเนินยากต่อการทำค้างจึงใช้วิธีทำแปลงขั้นบันได โดยเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินเป็นผู้มาช่วยปรับแปลงและสร้างระบบเป็นพื้นที่ต้นแบบ

“ฟักทองเข้าแถว” ฟังดูแปลกและน่ารัก แต่แท้จริงคือการแก้ปัญหาในการดูแล ยอดฟักทองจะถูกจัดให้หันไปทางเดียวกัน เลื้อยลงตามเนิน ดอกฟักทองตัวเมียที่ออกตามยอดที่เลื้อยลงไป ก็จะไปผสมพันธุ์กับดอกฟักทองสีเหลืองตัวผู้ที่อยู่โคนต้นของต้นข้างล่างได้ เกิดการผสมพันธ์ุกันได้เองไม่ต้องคอยอาศัยแมลง ทั้งยังทำให้ง่ายต่อการดูแล ตัดกิ่งใส่ปุ๋ยและเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ม่อนเงาะกำลังวิจัย “ฟักทองยอดด้วน” คือพอติดลูกขนาดเท่าลูกเทนนิสก็เด็ดยอดทิ้ง เพื่อให้อาหารจากต้นลงไปที่ผลเลย ไม่ต้องไปเลี้ยงเถาที่เหลือ จากการวิจัยได้ผลฟักทองโตและเนื้อหนาขึ้น

นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้เรียนรู้วิธีการแปรรูปผลผลิตที่ตกเกรดเป็นอาหารสำเร็จรูปส่งขายได้อีกด้วย เช่น เมล็ดฟักทอง ฟักทองแปรรูป

แค่ได้หยุดยืนมองแปลงฟักทองลดหลั่นกันไป ได้อากาศบริสุทธิ์กลางเนินเขาก็นับเป็นการได้ท่องเที่ยวเกินกว่าที่คิดไว้แล้วเรายังได้ความรู้เรื่องฟักทองมาเต็มอิ่ม

เห็ดหลินจือ
นอกจากนี้ที่ศูนย์ฯ ม่อนเงาะยังส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะ “เห็ดหลินจือ” โดยขายเชื้อให้เป็นก้อนรวมอุปกรณ์ ขายเหมา 5,000 ก้อน ในราคาก้อนละ 7 บาท เกษตรกรจะนำไปบ่มตามคำแนะนำ ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ก็เก็บผลผลิตได้ศูนย์ฯ ม่อนเงาะ รับซื้อผลผลิตกลับมาในราคากิโลกรัมละ 300 บาทจากนั้นจะนำมาแยกดอกเห็ด และตีนเห็ดออกจากกัน แล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆเข้าโรงอบ อบเสร็จส่งไปให้โรงงานบรรจุส่วนสปอร์สีขาวๆ ที่เกาะเห็ดนั้นขายให้กับตลาดนอก ได้ราคากิโลกรัมละ 5,000 บาท นำไปทำสารสกัดบรรจุในแคปซูลขายเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ตีนเห็ดจะมีสารสรรพคุณทางยามากกว่าดอก แต่คนส่วนมากนิยมซื้อส่วนที่เป็นดอก


ไร่ชาลุงเดช
ตกบ่ายมา “ไร่ชาลุงเดช” ที่ได้ยินชื่อมานาน วันนี้ได้เจอของจริงนอกจากจะได้อยู่กับธรรมชาติอันสวยงามสบายตา ได้รู้จักเจ้าของไร่ลุงเดชเกษตรกรที่น่ารักแล้ว ยังได้รู้จักกรรมวิธีและคุณค่าของชามาครบสูตร

ไร่ชาลุงเดชมีทั้งหมด 6 ไร่ เริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2540 เก็บใบเมี่ยงขาย พอโครงการหลวงเอาต้นพันธ์ุมาให้ปลูก แล้วทำที่นี่เป็นศูนย์ขยายพันธ์ุให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ พอมีความรู้ก็แยกย้ายไปปลูกตามสวนของตน ที่ดินนี้เป็นของลุง ลุงก็ดูแล ต่อมา 5 ปี จึงได้เริ่มการท่องเที่ยว มีกิจกรรมเก็บใบชา ชงชา ชิมชา และพาไปดูโรงงานบ่มชา

ชาที่ไร่ลุงเดชทำมีอยู่ 3 ชนิด คือ ชาอู่หลง ชาเขียว และชาขาว ชาทั้ง 3 ชนิด เก็บจากต้นเดียวกัน

ชาอู่หลง จะเก็บ 3 ใบ เก็บเสร็จส่งเข้าโรงงานของโครงการหลวงเลย

ชาเขียว เก็บ 3 ใบเหมือนกัน เริ่มเก็บแต่หกโมงเช้า ไม่เกินบ่าย 3 โมงเพื่อให้ทันผึ่งแดดรำไร ประมาณ 20-30 นาที ต้องคอยพลิกใบชาทุก 2-3นาที เพื่อกระตุ้นกลิ่น พืชทั่วไปที่เด็ดใบแล้วยังมีน้ำ และสารต่างๆ ยังค้างอยู่ในใบ ถ้าผึ่งไว้แล้วกระตุ้นมันบ่อยๆ ใบจะตื่นตลอดเวลา สารในใบก็จะเคลื่อนย้ายมายังก้านที่เราเด็ด กลิ่นเหม็นเขียวก็จะหายไปกลายเป็นกลิ่นหอมแทน จากนั้นจึงนำไปคั่วกับกระทะ ใช้ไฟร้อนพอดีๆ แล้วเอามานวดกับกระด้ง สลับกับการคั่ว ประมาณ 3 ครั้งก็จะได้ชาเขียว

ชาขาว เก็บแต่ยอดบน จากนั้นนำไปตากในที่ร่ม ไม่คั่ว ถือเป็นสุดยอดชา ขายได้ราคากิโลกรัมละ 3,500 บาทไปไร่ชาลุงเดช ได้จิบชาหอมละมุน ชมไร่ชาสวยสะอาดตา สูดอากาศบริสุทธิ์ อย่างนี้นี่เองใครๆ ถึงอยากมา ลุงเดชบอกว่าเมื่อก่อนก็ปลูกอะไรหลายอย่างเหมือนกัน แต่ปัจจุบันทำแต่ชา ลุงเดชมีความผูกพันกับโครงการหลวงมาก ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะส่งแต่โครงการหลวงเท่านั้นชอบที่ลุงไม่พยายามเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นการท่องเที่ยวมากไปนัก เรายังได้สัมผัสกับความเป็นเกษตรกรของลุงเดช มีความน่ารักแบบบ้านๆ

จากเรื่องราวที่เราได้รับรู้ ทั้งสิ่งที่ได้รับฟังและภาพที่เห็น ที่ศูนย์ฯม่อนเงาะ ทำให้เราเข้าใจการทำงานของโครงการหลวงกับชาวบ้านบนพื้นที่สูงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้นณ วันนี้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ได้พัฒนาทุกหมู่บ้านในความรับผิดชอบ ให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข เรารู้สึกว่าระบบการทำงานของโครงการหลวงเป็นระบบที่สร้างให้เกิดสายสัมพันธ์เสมือนคนในครอบครัว ระหว่างคนในหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ของโครงการ

หนึ่งคืนหนึ่งวัน ที่ได้เที่ยวไป รู้ไป ในศูนย์ฯ ม่อนเงาะ ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าทำไม “พ่อ” ถึงมีโครงการถึง 4,000 กว่าโครงการ พราะ
“พ่อ” หวังที่จะเห็นทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองอย่างมีความสุข และเพื่อให้เป็นเช่นนั้นได้พ่อจึงสร้างทีมช่วยเหลือที่ต้องยึดหลักว่า ก่อนการช่วยเหลือที่ใดหรือด้วยสิ่งใดต้องศึกษา ต้องวิจัยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าผลที่ได้จะเป็นเช่นไร แล้วจึงลงมือทำ

ขอขอบคุณ…
คุณเกรียงศักดิ์ นามวงศ์พรหม (อ.เกรียง)
รองหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ
คุณจักรกฤษณ์ ก้อนแก้ว (พี่เหนก)
เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม และประสานงาน
คุณศรชัย แซ่ย่าง (พี่ศร) เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สารตกค้าง
พ่อหลวงหื่อ เส่งหล้า ประธานกลุ่มท่องเที่ยวม่อนเงาะ
คุณจรัส แซ่ท้าว เจ้าของสวนฟักทองเข้าแถว บ้านกิ่วป่าหอบ
ลุงเดช รังษี ไร่ชาลุงเดช

เรื่องราวและภาพจาก…
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ
ที่อยู่ : บ้านม่อนเงาะ หมู่ 5 ตำบลเมืองก๋าย
อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50150
โทรศัพท์ : 09 5675 3848, 08 1025 1002[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".