[:TH]ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “หมอกจ๋าม” (มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ)[:]

[:TH]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ ที่หมู่บ้านวังดิน อำเภอแม่อาย จังหวัด
เชียงใหม่ ซึ่งอยู่บนดอยผีหลอกติดกับลำน้ำกก ห่างจากชายแดนไทย-พม่าราว 10 กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ.2512 ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่ล้าหลังและขัดสนของราษฎร อีกทั้งเป็นจุดล่อแหลมทางชายแดน สมควรให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการนำปัญหาโครงการอาสาพัฒนาวังดิน – หมอกจ๋ามโดยมีหม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี เป็นองค์ประธาน ทรงรับโครงการนี้เข้าเป็น“ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม” อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยรับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่นั้นมา โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านพืชผักเป็นลำดับแรก ต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านพืชไร่และไม้ผลจนสามารถดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป ปัจจุบันศูนย์ฯ หมอกจ๋าม มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน 10,528 ไร่

13 กันยายน 2560
เวลา 9.00 น. ออกจากเชียงใหม่ขึ้นเหนือไปตามเส้นทาง 107 แวะตลาดแม่มาลัยเพื่อซื้อเสบียง เตรียมไปพักที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม ที่อยู่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย ถึงเจ้าหน้าที่จะบอกว่าไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารออกไปหาซื้อง่ายๆ แต่พวกเราก็ไม่วางใจ แต่ส่วนมากห่วงเสบียงอื่นกันมากกว่าอาหารน่ะ

เข้าเขตแม่อาย ได้แต่ตื่นตา ในอดีตแม่อายจะเป็นเช่นไรนึกภาพไม่ออก แต่วันนี้เนินเขาสองข้างทางมีแต่พืชไร่มองเห็นเป็นเนินเขียวสลับไปมากว้างไกล และพืชไร่ที่เห็นดูคุ้นตาคือต้นมะม่วงทั้งนั้น เห็นแล้วแปลกใจเมื่อก่อนเคยได้ยินว่าฝางและแม่อายนั้นคือดินแดนของส้มเลยนี่ แล้วกลายเป็นดินแดนของมะม่วงไปตั้งแต่เมื่อไรกัน

จนได้พบกับ คุณยา (คุณชัยณรงค์ เตียงศรี) เจ้าหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง, คุณสมนึก สมพงษ์ นักวิชาการพืชผัก และคุณตึ๋ง (คุณชาติชาย พิทยาไพศาล)นักวิชาการไม้ผล ที่ศูนย์ฯ หมอกจ๋าม หลังจากสอบถามความต้องการของพวกเราแล้ว คุณยาก็พยายามโน้มน้าวให้เราดูเรื่องผัก น่าจะมีให้เราได้ดูเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าเรื่องของมะม่วง ซึ่งเพิ่งเก็บผลไปหมดไร่กันทุกไร่เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง (เดือนสิงหาคม) แต่เราก็ยืนยันขอรู้เรื่อง

“มะม่วงพันธุ์นวลคำ” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ถึงไม่มีผลให้ดูก็ไม่เป็นไรเลยได้รู้ว่าโครงการหลวงนำพันธุ์มะม่วงต่างประเทศหลายสายพันธุ์มาทดลองวิจัย ปรับปรุงจนเหมาะสมกับสภาพอากาศและดินบ้านเราเพื่อเป็นพืชผลสายพันธุ์ใหม่ๆ มาส่งเสริมสร้างรายได้ให้สมาชิกเกษตรกรในพื้นที่สูงหลายปีแล้ว ตามนโยบายการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง

ที่ศูนย์ฯ หมอกจ๋ามก็เป็นศูนย์หนึ่งที่ส่งเสริมแล้วเกษตรกรประสบผลสำเร็จดี เนื่องจากอยู่บนพื้นที่สูงอากาศเย็นกว่าที่ราบข้างล่าง มะม่วงจึงให้ผลผลิตช้ากว่า เหมือนเป็นผลไม้นอกฤดู นอกจากจะไม่แย่งตลาดกันแล้วยังทำให้ขายได้ราคาดีขึ้นด้วย

ไร่มะม่วง
หลังจากคุยกันสักพักเราก็ได้ไปดูไร่มะม่วงของ พ่อหลวงศรีนวลหมื่นนามหน่อ พ่อหลวงปลูกมะม่วงสายพันธุ์ต่างประเทศหลายสายพันธุ์ตามที่ศูนย์ฯ หมอกจ๋ามส่งเสริม ตั้งแต่ ปี 2545 เริ่มจากรับกล้าจากศูนย์ฯมาเพาะเลี้ยง ทางศูนย์ฯ หมอกจ๋ามก็ออกมาดูแลร่วมแก้ปัญหาด้วยกันจนทุกวันนี้พ่อหลวงมีต้นแม่พันธุ์ต่างๆ อยู่ประมาณ 20 ต้น รวม 6 สายพันธุ์ ในพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่

มะม่วงสายพันธุ์ “อาร์ทูอีทู” เป็นมะม่วงของประเทศออสเตรเลียปลูกได้ดีในประเทศไทย
มะม่วงสายพันธุ์ “อี้หวินเบอร์ 6” เป็นลูกผสมของมะม่วง “จินหวง”กับ “อ้ายเหวิน” มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1 กิโลกรัม
มะม่วงสายพันธุ์ “เออร์วิน” หรือ “อ้ายเหวิน” เป็นมะม่วงขนาดปานกลาง ยาวรี พอสุกจะเป็นสีแดงเลือดนก ทานสุก มะม่วงนี้
เป็นที่นิยมบริโภคทั่วโลก
มะม่วงสายพันธุ์ “จินหวง” เป็นพันธุ์นำเข้าจากไต้หวัน ผลกลมยาวก้นงอน มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1 กิโลกรัม รับประทานได้ทั้งดิบ
และสุก สีเปลือกออกเหลืองนวล จึงมีชื่อภาษาไทยว่า “นวลคำ”

ที่สวนของพ่อหลวง เพิ่งเก็บมะม่วงไปเมื่อเดือนที่แล้ว ตอนนี้เราจึงเห็นแต่ต้นมะม่วงที่กำลังถูกตัดแต่ง ซึ่งจะต้องคอยตัดแต่งทุกปีไม่ให้ต้นสูงเกินไปจะทำให้ดูแลและเก็บผลผลิตลำบาก พ่อหลวงเล่าเรื่องการปลูกและดูแลมะม่วงให้พวกเราฟังพร้อมเดินตามกันไปจากแปลงโน้นเข้าแปลงนี้

การปลูกมะม่วงเพื่อให้แข็งแรงออกผลผลิตดีและดูแลง่ายขึ้น เขาจะไม่ใช้กิ่งชำของมันปลูกลงดิน จะใช้กล้ามะม่วงพันธุ์พื้นเมืองเพื่อให้คุ้นเคยกับสภาพพื้นที่เป็นต้นตอ เพื่อการหาอาหารและต้านทานโรคได้ ส่วนมากใช้พันธุ์ “ตลับนาค” เมื่อต้นตออายุได้ 1 ปี ก็เอากิ่งพันธุ์มาทาบ เมื่อมีอายุได้ประมาณ 3 ปี มะม่วงก็เริ่มให้ผลผลิต ก็ต้องใส่ปุ๋ยเร่ง ฉีดยาฆ่าแมลงเมื่อเป็นผลแล้วก็เด็ดผลที่เยอะเกินไปออก ให้เหลือแต่ลูกที่สมบูรณ์ที่สุดพอเริ่มโตก็ต้องเอาถุงมาครอบปิดมะม่วงทุกผล เพื่อป้องกันหนอนมาชอนไชถ้าเป็นมะม่วงนวลคำที่ต้องการให้ผิวเหลืองนวลสวยเขาก็จะใช้ถุง “ชุนฟง”ซึ่งเป็นถุงที่มีคาร์บอนเคลือบไว้ด้านในห่อไว้ แต่ถ้าต้องการให้มีสีแดงจัด
สวยงามเหมือนกับพันธุ์อ้ายเหวินก็ใช้ถุงสีขาวธรรมดา

เมื่อมะม่วงเริ่มโตก็จะเอาไม้ไผ่ปักไว้ ต้นละหลายลำนั้น เพื่อผูกยึดค้ำกิ่งที่มีลูกเยอะ เพราะแต่ละลูกเมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 0.8-1 กิโลกรัมเมื่อเก็บผลผลิตไปหมดแล้วก็ต้องให้ต้นได้พักสัก 1 เดือน แล้วค่อยตัดแต่งกิ่งใบที่ตัดลงมาก็เอาคลุมดินไว้รอบต้น ปล่อยให้บริเวณติดโคนต้นว่างเอาปุ๋ยใส่ใต้กองใบไม้แล้วรดน้ำให้ปุ๋ยละลาย มะม่วงเป็นไม้ทนแล้งไม่จำเป็นต้องรดน้ำ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำขังหรือดินแฉะ

การเก็บเกี่ยวเพื่อส่งผลผลิต ต้องกะให้ผลสุกเมื่อถึงปลายทาง ตลาดของมะม่วงสายพันธุ์ต่างประเทศนี้ นอกจากส่งให้ภายในประเทศแล้วยังส่งตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์และจีน ผลผลิตที่เหลือจากการรับซื้อของโครงการหลวง ทางเจ้าของสวนก็สามารถขายให้กับตลาดนอกได้ แต่เป็นผลผลิตที่ทางโครงการหลวงไม่ได้รับรอง


ไร่ผักของชาวบ้าน
ไร่ผักของชาวบ้านเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มีโอกาสไปดูอยู่ตีนดอย หน้าฝนเขาจะมาทำไร่บนนี้ พอหน้าแล้งเกี่ยวข้าวแล้วก็ย้ายลงไปแปลงนาข้าวที่ราบช่องเขาอยู่ใกล้ๆ แต่ละครอบครัวมีที่ดินเป็นสิทธิทำกินครอบครัวละ1 ไร่ และมีแปลงนาสำหรับปลูกข้าวไว้กินอีกส่วนหนึ่ง ผักที่ปลูกมีฟักทองญี่ปุ่น ข้าวโพดสีม่วง มะเขือม่วงก้านดำและก้านเขียว และอื่นๆสลับกันไปตามใบสั่งที่ศูนย์ฯ หมอกจ๋ามรับจากส่วนกลาง แล้วจัดแบ่งให้สมาชิกของศูนย์ฯ ปลูกแต่ละช่วงเวลา

ฟักทองในหนึ่งไร่จะมีถึง 1,600 ต้น แต่ละต้นจะใช้พื้นที่1 ตารางเมตร เป็นการปลูกแบบขึ้นค้าง แปลงถัดมาเป็นมะเขือม่วงเพิ่งเริ่มปลูก ถัดไปมีข้าวโพดหวานสีม่วง กำลังออกช่อออกฝัก ก็เลยได้เรียนรู้ว่าดอกข้าวโพดที่เห็นโยกไหวอยู่ปลายยอดนั้นคือเพศผู้ มันจะ
ปลิวลงมาผสมกับเพศเมียที่เป็นเส้นฝอยๆ มากมายข้างล่าง ที่เวลาทานเราต้องลอกมันออกนั่นเอง ทุกเมล็ดที่เราทานน่าจะเป็นการตั้งท้องของเมล็ดข้าวโพดใช่ไหมนะ ดังนั้นเพื่อไม่ให้มันผสมข้ามสายพันธุ์กันเวลาปลูกก็ต้องระวังปลูกกันคนละระยะเวลากับข้าวโพดสายพันธุ์อื่นเพื่อให้เกสรมันแก่ไม่เท่ากัน


ปัจจุบันสมาชิกเกษตรกรของศูนย์ฯ หมอกจ๋ามที่ยังทำอยู่จริงๆ มีประมาณ 200 ครอบครัว เท่าที่ได้พูดคุยกันชาวบ้านก็ดูมีความสบายใจกับการที่มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ หมอกจ๋ามมาคอยดูแล และดูเหมือนทุกครอบครัวจะมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายพอสมควร มีรถมอเตอร์ไซค์์หรือไม่ก็รถกระบะไว้ใช้กันทุกครัวเรือน

อาคารผลผลิต
ที่อาคารรับผลผลิต จะเป็นที่รับพืชผัก ผลไม้ เพื่อส่งไปศูนย์ใหญ่ที่แม่เหียะ เชียงใหม่ สำหรับจัดส่งลูกค้าหรือส่งโครงการหลวง ที่กรุงเทพแต่ก่อนรับพืชผักหรือผลไม้นั้น เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพืชผักหรือผลไม้จะต้องรับผิดชอบดูแลเรื่องสารพิษตกค้างเป็นอันดับแรก โดยการออกไปสุ่มตรวจเสมอ และก่อนถึงวันส่งจะออกไปสุ่มตรวจอีกครั้ง พืชผักที่นำมาส่งแล้วก็จะต้องสุ่มตรวจซ้ำ สำหรับไม้ผลจะออกไปตรวจล่วงหน้าเพื่อตรวจว่าสารพิษยังตกค้างอยู่ในผลไม้หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่ก็ต้องรอระยะเวลาให้สารพิษเจือจางก่อนจึงจะนัดส่งได้

เกษตรกรจะนำผลผลิตมาส่งที่ศูนย์ฯ หมอกจ๋ามทุกช่วงเช้า นำผลผลิตใส่ลังของโครงการหลวง ก่อนการคัดแยกและชั่งน้ำหนัก พนักงานจะคัดแยกส่วนที่ได้มาตรฐานกับส่วนไม่ได้มาตรฐานออกจากกัน พืชผักที่ได้มาตรฐานจะใส่ลังสีส้ม พืชผลได้มาตรฐานจะใช้ลังสีเขียว ชั่งน้ำหนักแล้วลงบันทึกส่วนที่โครงการหลวงรับซื้อ เพื่อการจ่ายเงินให้เกษตรกรเป็นงวดๆ ส่วนที่โครงการหลวงรับซื้อแล้ว เจ้าหน้าที่จะคัดและจัดแต่งอีกครั้ง ทำความสะอาดแล้วบรรจุใส่ถุง พร้อมจำหน่ายในชื่อ “ดี อร่อย”หรือจัดส่งเป็นลัง มาที่ศูนย์แม่เหียะเพื่อส่งต่อให้ลูกค้า

ที่บ้านวังไผ่
นอกจากการส่งเสริมให้ชาวบ้านพื้นที่สูงเรียนรู้ที่จะทำการเกษตรให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว หน้าที่ของศูนย์พัฒนา ทุกศูนย์ฯ ก็ต้องพยายามให้ทุกชุมชนรักษาขนมธรรมเนียมประเพณีและวิถีของตนเองทำให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติกำเนิด ชุมชนใดที่ดูเข้มแข็งทางศูนย์ฯก็จะเริ่มส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชนเผ่า เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

ศูนย์ฯ หมอกจ๋ามกำลังจะพัฒนา “บ้านวังไผ่” ซึ่งเป็น “ชาวไทลื้อ”แม้จะมีประชากรน้อยกว่าเชื้อชาติอื่นที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ แต่ยังคงมีศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา สามารถนำมาส่งเสริมเป็น หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำและส่งเสริมให้เปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวไทลื้อบ้านวังไผ่อย่างใกล้ชิด ด้วยการนั่งเรือจากท่าเรือในเมืองมาที่ท่าเรือวังไผ่เข้าพักบ้านชาวไทลื้อ (ที่พักแบบโฮมสเตย์) ชมการแปรรูปบุก แบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ชมการจักสานเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่แบบไทลื้อทานอาหารไทลื้อพร้อมชมการแสดง การละเล่น เช่น ฟ้อนดาบ ฟ้อนรำประกอบการบรรเลงดนตรีที่ไพเราะ และจังหวะสนุกสนานแบบไทลื้อเราไม่มีโอกาสเห็น เพราะกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

สองวันหนึ่งคืนที่หมอกจ๋าม พวกเราก็มีความสุข สนุกกับการต้อนรับที่อบอุ่นจากท่านเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 และยังได้คำศัพท์ใหม่ที่น่ารัก
“หมอกจ๋าม” ที่เข้าใจว่าหมายถึงหมอกนั้นน่ะ แท้จริงเป็นภาษาไทใหญ่หมายถึง “ดอกจำปี” ที่มีอยู่ทั่วไปที่นั่น และได้มีโอกาสเริ่มเข้าใจสิ่งเคยสงสัย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ท่องเที่ยวธรรมชาติชีวิตที่แท้จริงทำให้ความเข้าใจการทำงานร่วมกันของชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่โครงการหลวงเป็นความอบอุ่นใจที่รู้สึกได้ว่าทั้ง 3 ท่าน และเจ้าหน้าที่โครงการหลวงทุกรุ่น มีความตั้งใจที่จะพัฒนาดูแลชาวบ้าน ด้วยความรู้ความสามารถที่แต่ละท่านมี ตามแนวทางที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานไว้ จนสำเร็จเป็นความเขียวชอุ่มที่สมบูรณ์ ดังที่พวกเราได้เห็นและอยากให้ธรรมชาติคู่ชีวิตนี้คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป

ขอขอบคุณ
คุณชาติชาย พิทยาไพศาล (ตึ๋ง) นักวิชาการไม้ผล
คุณสมนึก สมพงษ์ (นึก) นักวิชาการพืชผัก
คุณชัยณรงค์ เตียงศรี (ยา)
เจ้าหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง
พ่อหลวงศรีนวล หมื่นนามหน่อ เจ้าของสวนมะม่วง

เรื่องราวและภาพจาก…
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม
ที่อยู่ : บ้านห้วยศาลา หมู่ 15 ตำบลท่าตอน
อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 50280
โทร 0 5345 1463 หรือ 08 1961 2677[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".