[:TH]ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “แม่ทาเหนือ” (เสาวรส)[:]

[:TH]

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ก่อตั้งครั้งแรกในรูปแบบโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2521
ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙เพื่อช่วยราษฎรในชุมชนแม่ทาเหนือให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การดำเนินงานในช่วงแรกทางศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรการอุตสาหกรรมป่าไม้ในรูปการปลูกสร้างสวนป่า โดยมุ่งหวังให้ราษฎรมีรายได้จากการดูแลรักษาป่าไม้ ต่อมาได้เริ่มพัฒนาด้านอาชีพให้กับชาวบ้าน ส่งเสริมการปลูกผัก งานเลี้ยงสัตว์เป็นงานหลัก งานหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพเสริมในรูปแบบศูนย์พัฒนาโครงการหลวง

ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ มีพื้นที่รับผิดชอบ 254 ตารางกิโลเมตร หรือ 158,750 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบล คือ ตำบลออนเหนือตำบลทาเหนือ และตำบลแม่ทา มีประชากรอาศัยราว 8,173 คนส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองและชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง

25 กันยายน 2560
ออกเดินทางแต่เช้าอีกแล้ว แม่ทาเหนืออยู่ไม่ไกลก็จริง ถนนลาดยางเส้นทางเล็กๆ สวยด้วยป่าและความชุ่มชื้น แต่เป็นทางขึ้นเขาชัน แคบและคดเคี้ยวเช่นเดียวกับทางไปบ้านแม่กำปอง วันนี้เรามาศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ที่เลี้ยงควายนม และแหล่งเสาวรสหวานของโครงการหลวง

มาถึงก็ได้เจอเสาวรสหวานพันธุ์ไทนุงกันแต่เช้า ชาวบ้านกำลังเอามาส่งที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ เขาจะส่งทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จึงได้มีโอกาสดูช่วงเวลาที่ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รับและส่งผลิตผลกันแต่เช้า ดูมีชีวิตชีวาดี มีพืชผักหลายๆ อย่างมาพร้อมกัน ที่นี่ก็เหมือนกับที่อื่นๆ ที่ได้ไปมา คัดแยกผลิตผลที่ได้ตามมาตรฐานก่อนบรรจุลงลังของโครงการตามสีที่กำหนดแล้วจึงชั่งน้ำหนักและลงบันทึกรับผลผลิต พืชผลและผักที่ได้เข้ามาในช่วงเช้านอกจากเสาวรสแล้วก็มี ถั่วเข็ม ถั่วฝักยาว ซูกินี (แตงกวาญี่ปุ่น)

8.00 น. พวกเราก็ได้พบกับหัวหน้าศูนย์ฯ แม่ทาเหนือคุณพิชิต วันชัย นั่งสบายๆ คุยกันหนักๆ ที่โรงอาหาร หัวหน้าบอกว่าหลักในการทำงานของที่นี่ก็คือ เน้นการพัฒนาสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านตอนนี้สมาชิกเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกพืชผักหรือเลี้ยงสัตว์ส่งผลิตผลให้โครงการ แล้วยังมีรายได้นอกภาคเกษตรกรรม เช่น การทำงานจักสานการทอผ้า เย็บผ้าส่งไปขาย และยังสามารถขายให้นักท่องเที่ยวได้อีกด้วย

สำหรับงานการดูแลในภาคเกษตร คือ นำพืชพันธุ์ที่ทางศูนย์ฯ วิจัยแล้วว่าส่งเสริมได้มาทดลองว่าเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตนไหม ต้องมั่นใจไม่ต่ำกว่า 90 % ว่าส่งเสริมแล้วชาวบ้านจะมีรายได้แน่นอนจึงจะนำออกส่งเสริม ทางศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ จึงจัดหาเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพร้อมเป็นที่ปรึกษาและช่วยดูแล ส่วนปัจจัยอื่นๆ ใช้วิธีให้ยืมไปก่อนแล้วหักค่าใช้จ่ายเมื่อสามารถจำหน่ายผลผลิตได้แล้ว นอกจากนี้ทุกศูนย์ฯ มีระบบสหกรณ์เก็บเมล็ดพันธุ์พืชและปุ๋ย แล้วยังมีวิสาหกิจชุมชน ชาวบ้านมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งอยู่ในขอบเขตของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากการเก็บออมแล้วค่อยเอาไปลงทุน

สำหรับการเป็นสมาชิกเกษตรกรต้องมาลงทะเบียนสมัคร เมื่อผ่านแล้วต้องอบรมเรื่องพืชผักปลอดสารพิษ (GAP) ในช่วงเดือนตุลาคมโครงการหลวงเองจะมีแผนว่า ปีนี้จะส่งเสริมการปลูกพืชชนิดใดกี่ตันมีเป้าหมายไว้อย่างไร อย่างเช่นถ้าปีหน้าโครงการหลวงตั้งเป้าว่าจะต้องได้ผลผลิตเสาวรส 80,000 กิโลกรัม ก็ประมาณได้ว่าต้องปลูกต้นกล้า8,000 ต้น ไร่หนึ่งปลูกได้ 100 ต้น ดังนั้นต้องปลูกเสาวรส 80 ไร่ ทางศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ ก็จะทำแผนว่าใครมีความประสงค์จะรับปลูกอะไรเท่าไร เมื่อได้ตัวเลขแล้วก็แจ้งส่วนกลางไปว่ามีกี่รายจำนวนเท่าไร ทางส่วนกลางก็จะแจ้งไปที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ ซึ่งเป็นที่เพาะและขยายพันธุ์กล้า แล้วจัดส่งให้ศูนย์ฯ ต่างๆ ตามที่ส่วนกลางแจ้งมาเมื่อรับกล้ามาแล้ว ทางศูนย์ฯ แม่ทาเหนือก็นำมาส่งต่อให้สมาชิกเกษตรกร ส่วนปัจจัยการเพาะปลูก เช่น ปุ๋ย ยา สารเคมี อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ

คัดบรรจุ

จบจากการทำความเข้าใจภาพรวมของศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ หัวหน้าก็พาทัศนศึกษางานของศูนย์ฯ แม่ทาเหนือต่อ ได้มีโอกาสสอบถามข้อมูลของพืชผักที่ทางศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ ดูแลอยู่จาก คุณต้อม (กิตติ ทรงสุข)นักวิชาการพืชผัก ได้รู้ว่าที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือนี้ จะส่งเสริมเน้นผักประเภทกินผล เพราะอากาศที่นี่ไม่เหมาะสมกับผักกินใบ การส่งเสริมก็มีทั้งผักอินทรีย์และผักปลอดสารพิษ จุดเด่นของที่นี่มี ถั่วเข็ม ซูกีนี เสาวรสหวาน


ห้องตรวจสอบผลผลิต
ที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือเราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน นั่นคือห้องแล็บสำหรับสุ่มตรวจสอบยาฆ่าแมลงและสารพิษในผลผลิต ด้วยชุดตรวจสอบ “จีที” (GT) เขาบอกว่าเป็นชุดตรวจสอบที่ใช้ง่ายและทราบผลในเวลาอันรวดเร็ว เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ภาคสนาม แต่เราดูแล้วมีหลายขั้นตอนมากเลย

เริ่มจากการหั่นหรือบดผลิตผลตัวอย่างให้ละเอียดแล้วคลุกให้เข้ากันชั่งตัวอย่างใส่ขวด แล้วนำสาร Solvent-1 หยอดลงไปแล้วเขย่าให้เข้ากัน ดูดสารสกัดที่ผสมแล้วใส่หลอดแก้วทดลองแล้วใส่ Solvent-2 เอาเข้าเครื่องเป่าลมให้สารระเหยจนแน่ใจว่าระเหยหมดจริงๆ จึงจะเอาไปตรวจสอบสารตกค้าง ผู้ปฏิบัติการตรวจสอบจะต้องทำหลอดควบคุม และหลอดตัดสินไว้ก่อนทุกครั้ง เอาหลอดตัวอย่างที่ได้มาเทียบกับหลอดตัดสินและหลอดควบคุม

ขั้นตอนนี้ใช้ชุดตรวจสอบที่เรียก “จีที” หลังจากปฏิบัติตามวิธีการที่ระบุไว้จะได้ตัวอย่างในหลอดแก้วที่มีสีเปลี่ยนไป จะผ่านการตรวจสอบหรือไม่ก็จะเทียบเอาจากสีที่แตกต่างมากน้อยแค่ไหนกับหลอดควบคุมและหลอดตัดสิน ตัดสินได้ด้วยสายตา
เป็นขั้นตอนที่ดูเหมือนง่าย แต่ก็อธิบายยากเหมือนกัน ถ้าอยากรู้ให้ละเอียดกว่านี้ คงต้องสมัครมาทำงานที่นี่แล้วล่ะ

เรียนรู้ เรื่อง “นมควาย”
จากความรู้ที่พวกเราไม่ค่อยสันทัด ได้ออกมาเดินเหมือนอยู่กลางทุ่งทั้งที่ยังอยู่ที่หน้าศูนย์ฯ แม่ทาเหนือนี่เอง ทำให้เริ่มมีชีวิตชีวากันใหม่ ยิ่งได้ยินหัวหน้าพูดถึงร้านกาแฟ…รีบมองหา…อยู่ตรงไหน…นั่นไง…แต่กำลังสร้างอยู่น่ะ หัวหน้าตั้งใจจะให้ถนนสายนี้เป็นเส้นทางปั่นจักรยาน ทำร้านกาแฟใส่นมควาย พร้อมขายผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน

หวังว่าถ้าคิดค้นวิธีตีนมควายให้แตกฟองได้เหมือนนมวัว ก็จะทำให้นมควายที่ส่งเสริมกันอยู่เป็นที่รู้จักมีตลาดรองรับมากขึ้น แล้วโรงงานตรงนี้ที่ชาวบ้านนำนมควาย นมแพะที่รีดได้มาส่งทุกเช้าก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ ได้ประชาสัมพันธ์ชั้นดี…ที่นี่มีนมควายสดจากฟาร์ม มีแบรนด์ของตัวเองเป้าหมายที่ต้องการคือผ่าน อย. ด้วยนะ


ภารกิจหลักของศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ คือการสร้างรายได้ให้เกษตรกรแต่การขายน้ำนมดิบไม่ใช่เรื่องคุ้มทุน นอกจากการแปรรูปให้เกิดผลิตภัณฑ์หลายชนิด ซึ่งก็ต้องมีโรงงานผลิต ตอนนี้เพิ่งก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จ รอเครื่องจักรที่สั่งไว้กำลังจะเข้ามาแล้วจะเริ่มการผลิต นั่นคืองานที่จะเกิดขึ้นอีกหนึ่งงานที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ หัวหน้าบอกว่าปัจจุบันที่ทำอยู่น้ำนมดิบที่ได้มาส่งให้แม่เหียะ นำไปแปรรูปต่อเป็นมอสซาเรลลาชีส บางส่วนนำมาแปรรูปเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ซึ่งทำที่นี่เลย ทำแล้วก็ส่งให้ทางโครงการหลวงตีนตก และร้านกาแฟที่เกิดขึ้นทุกแห่งของโครงการหลวง

สำหรับการรับซื้อน้ำนมดิบนี้ทางศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ จะมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตวประจำอยู่ที่นี่ คอยตรวจเช็คน้ำนมดิบว่าได้คุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ มีความถ่วงจำเพาะเท่าไร มีการปนเปื้อนของเลือดซึ่งเกิดจากการตกเลือดของเต้านมอักเสบหรือเปล่า ถ้ามีก็จะไม่รับเข้ามา ปกติเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ซึ่งประจำอยู่ที่นี่ ก็ออกไปดูแลตั้งแต่ในฟาร์มอยู่แล้ว จะต้องดูแลฟาร์มให้ได้มาตรฐานโดยเฉพาะเรื่องความสะอาด


กระบวนการทำนมพาสเจอไรส์ (Pasteurization process)
เป็นกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนใช้อุณหภูมิไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส เพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ฟอสฟาเทส โดยอุณหภูมิในการฆ่าเชื้อผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 85 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 15 วินาที จากนั้นลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า5 องศาเซลเซียส ที่นี่มีหม้อทำพาสเจอร์ไรส์ขนาดความจุประมาณ 36 ลิตร ดูก็น่าจะทำได้ไม่ยากนัก เมื่อได้นมผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อแล้วก็บรรจุใส่ขวดไว้ขายได้เลย

ได้ชิมนมแพะและนมควายกันไปหลายอึก ตอนแรกก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะรับได้ไหม แต่ไหนๆ ก็มาถึงแหล่งผลิตแล้ว แถมยังจะต้องไปเจอตัวจริงอีก ชิมสักหน่อยก็แล้วกัน อือ…ก็ไม่แตกต่างกับนมวัวนะเพียงแต่รู้สึกว่ารสชาติจะมันกว่ากันนิดหน่อยแค่นั้นเอง

ฟาร์มควายนม
ก่อนเดินทางไปเยี่ยมเยียนควายนมถึงฟาร์ม เราก็ได้ความรู้ถึงที่มาของควายนมพันธุ์เมซานี ( Mehsani )

เมื่อปี พ.ศ. 2539 ดร.วี คูเรียน อดีตประธานคณะกรรมการสภาพัฒนานมแห่งชาติอินเดีย (National Dairy Development Board หรือ NDDB) ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๙ จากการเข้าเฝ้าฯ ดร.คูเรียนมีความประทับใจและชื่นชมในพระราชอัจฉริยภาพ ซึ่งทรงเห็นประโยชน์ของการพัฒนาด้านการบริโภคนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในระยะเจริญเติบโต และได้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนมของระเทศไทย ซึ่งรัฐบาลอินเดียมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาในด้านนี้ได้

ในโอกาสนั้นได้ทราบว่าพสกนิกรชาวไทยได้จัดเฉลิมฉลองแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายกระบือนมพันธุ์เมซานี จำนวน 50 ตัวแด่พระองค์ท่าน พร้อมน้ำเชื้อแช่แข็งของกระบือเมซานีและมูร่าห์ ถวายอีกประเภทละ 500 โดส

กรมปศุสัตว์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เลี้ยงดูกระบือนมพันธุ์เมซานี (Mehsani) ที่รัฐบาลอินเดียน้อมเกล้าฯ ถวาย ซึ่งได้นําไปเลี้ยงขยายพันธุ์และศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ที่หน่วยบํารุงพันธุ์สัตว์พบพระ ศูนย์วิจัยและบํารุงพันธุ์สัตว์ตาก จังหวัดตาก ต่อมาย้ายไปเลี้ยงดูที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์ ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูที่ศูนย์พัฒนา โครงการหลวงหนองเขียว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง

ในปี 2549 ก็นำมาให้ที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือเลี้ยง เพราะที่นี่มีการปลูกข้าวโพดมาก ทดลองเลี้ยงอยู่ 7 ปี จึงได้เริ่มส่งเสริม นับเป็นอาชีพใหม่เป็นอาชีพพระราชทานเหมือนการเลี้ยงวัวนม เมื่อ 50 ปีที่แล้วทรงนำวัวนมเข้ามาเลี้ยงที่วังสวนจิตรฯ เลี้ยงได้ผลจนได้รับความร่วมมือจากเดนมาร์ก เกิดเป็นฟาร์มโคมนมไทย-เดนมาร์ก แต่ควายนมเพิ่งเข้ามาได้10 กว่าปีนี่เอง ตอนนี้มีเกษตรกร 4-5 ราย ที่เลี้ยงอยู่

ควายนมพันธุ์เมซานีนี้ ยังมีปัญหาการขยายพันธุ์ให้ได้เพศเมียเพราะเปอร์เซ็นต์การตกลูกเป็นเพศเมียจะน้อยมาก จึงยังต้องทำการวิจัยและพัฒนาต่อไป ว่าจะใช้วิธีใดในการขยายพันธุ์ให้ได้เพศเมียมากขึ้น

ฟาร์มแรกที่ไปถึงเป็นของพี่สมเกียรติ ปาลี ที่บ้านทาม่อน มันดูแปลกและแตกต่างจากควายที่เราเคยเห็น ดูเหมือนตัวมันจะเล็กและแบนๆและที่แปลกก็คือเขามันจะม้วนบิดงอ เราไปถึงก็ใกล้เที่ยงแล้วเลยไม่ได้ดูการรีดนมช่วงเช้า เขารีดกันตั้งแต่ประมาณตีห้า (5.00 น) และจะรีดอีกครั้งตอนเย็น คือ เวลาประมาณ 16.00 น. พี่สมเกียรติเล่าว่า เมื่อก่อนเลี้ยงวัวอยู่ แต่พอทางโครงการหลวงส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงควายนมก็เลยสนใจเข้ามาร่วม ทำมา 5 ปีแล้ว ตอนนี้กำลังจะปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐานโดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาด ต้องล้างโรงเรือนให้สะอาดเสมอที่จริงการล้างโรงเรือนก็มีประโยชน์นะ นอกจากจะได้ความสะอาดแล้วยังได้น้ำขี้ควายเอาไปหมักทำก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นแก๊สหุงต้มได้อีกด้วย

ฟาร์มต่อไปของพี่ไพรัท อุดทา ที่บ้านใหม่ ควายที่นี่มีการบันทึกประวัติขึ้นกระดานไว้ทุกตัว และมีชื่อเรียก เช่น นาตาลี มีชัย พฤกษา พี่ไพรัทเล่าว่ามีฟาร์มควายอยู่ที่บ้านหัวหนองอีกแห่ง ควายต้องมีอายุ 4 ปีขึ้นไปถึงจะให้นมได้ จะรีดนมกันวันละ 2 รอบคือรอบเช้ากับเย็น แต่ละตัวก็ให้นมได้วันละประมาณ 8 – 9 กิโลกรัม ควายพันธุ์เมซานีเลี้ยงยากสักหน่อย ต้องเลี้ยงด้วยข้าวโพด หญ้า ช่วงหน้าฝนก็ต้องให้อยู่แต่ในคอกถ้าปล่อยไปกลัวมันไปนอนในโคลนเดี๋ยวเต้านมอักเสบจะรักษายาก ที่นี่มีตัวผู้พ่อพันธุ์เพียงตัวเดียวนอกนั้นเป็นตัวเมีย

ฟาร์มแพะ
เดินทางต่อไปฟาร์มเลี้ยงแพะนม ชื่อ ฟาร์มรจนา ที่ห้วยวังหลัง เส้นทางโหดนิดหน่อย บนท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝน พวกเราได้แต่ภาวนาว่าฝนอย่าเพิ่งตกเลยนะ เพราะวันนี้มือใหม่หัดขับทางวิบากจริงๆ นะ ถ้าถนนลื่นเละมากไปเดี๋ยวผู้โดยสารจะหนีลงจากรถกันหมด

หลังจากผ่านเส้นทางที่โหดนิดๆ แต่ทุกลักทุเลมากหน่อยสำหรับพวกเราก็เข้าสู่สวนและป่าโปร่ง เห็นทุ่งนาซ่อนตัวอยู่มีภูเขาล้อมรอบจอดรถไว้ตรงนี้แล้วเดินผ่านทุ่งนาไป ได้ยินเสียงน้ำไหลผ่านลำห้วยไกลๆบรรยากาศดีจริงๆ ได้ยินเสียงแพะร้องเรียกกันวุ่นวาย รู้สึกว่าบ้านกลางทุ่งนี่มีชีวิตชีวามากๆ ที่นี่มีแพะหลายตัวแล้วยังมีหลายพันธุ์ คุณพี(พีรพันธ์ อนันตพงษศ์) เจ้าหน้าที่ไม้ผล แต่พาเรามาศึกษาเรื่องควายกับแพะ บอกว่าแพะนี่สามารถผสมข้ามสายพันธ์ุได้ เจ้าหน้าที่จะเลือกดูพันธุ์ที่ให้นมดีนำมาส่งเสริม ฟาร์มแพะนี้อยู่ในการดูแลของทีมงานรศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ จากคณะเกษตร มช. มาช่วยทำการวิจัย แพะดูสะอาดแล้วก็สวยมากๆ เลย โดยเฉพาะตัวผู้ที่มีเครายาวทำให้หน้ามันดูสง่าเหมือนคุณตาใจดี ลูกเล็กๆ หลายตัวที่เบียดกันไปมายิ่งน่ารัก แต่พอรู้ว่า

พวกมันไม่เคยได้มีโอกาสดูดนมแม่เลยรู้สึกว่ามันน่าสงสารจัง พวกแม่รีดทั้งหลายไม่ว่าควายหรือแพะ (ที่ถูกรีดนมจะเรียก “แม่รีด” เรียกกันตรงๆอย่างนี้เลยแหละ) เมื่อคลอดลูกแล้วก็จะต้องแยกแม่กับลูกออกจากกันแล้วบรรดาแม่ๆ ก็จะถูกรีดนมด้วยฝีมือมนุษย์เอาใส่ขวดไปเลี้ยงลูกแพะแล้วพอผ่านไป 1 เดือน ลูกแพะก็จะเหมือนลูกคนที่ต้องกินนมผงต่อไปพร้อมอาหารเสริม การที่ไม่ปล่อยให้ลูกแพะดูดนมแม่สลับกับเราเข้าไปรีดนม เพราะเมื่อแม่แพะสัมผัสได้ว่าไม่ใช่ปากของลูกแพะ มันจะไม่หลั่งน้ำนมให้เรา ในที่สุดน้ำนมก็จะแห้งไป

น้ำนมจากแม่รีดนี้จะมีอยู่ประมาณ 200 วันหลังแพะคลอดลูกแพะตัวผู้อายุ 1 ปี จึงจะพร้อมผสมพันธุ์ ส่วนแพะตัวเมียอายุ 8เดือน ก็ตั้งท้องได้แล้ว ใช้ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 4 เดือน ช่วงเวลาติดสัตว์ของแพะจะสั้นกว่าของวัวควาย ดังนั้นจึงทำให้แพะมีโอกาสให้น้ำนมได้มากกว่าควาย เพิ่งรู้ว่าควายนมกับแพะนั้นต้องตั้งท้องจึงจะมีน้ำนม ไม่เหมือนวัวนม ซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งท้องก็รีดน้ำนมได้ทุกวัน

ไร่เสาวรส
จากนั้นพวกเราก็บุกทุ่งนาไปไร่เสาวรสที่เห็นอยู่ไม่ไกล แต่มีโอกาสได้ดูเพียงนิดเดียว เห็นลูกเขียวๆ ห้อยอยู่เต็มใต้ค้าง แล้วฝนก็ตกลงมาไร่เสาวรสเป็นไร่เปิดกลางทุ่งนาไม่มีที่ให้เราพักหลบฝน จึงย้อนกลับมาฟังเรื่องราวของเสาวรสกันต่อที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือ อีกครั้ง

การปลูกเสาวรสเริ่มจากการเตรียมพื้นที่ เนื่องจากเสาวรสมีระบบรากตื้นแต่แผ่กว้าง ไร่หนึ่งๆ ไม่ควรปลูกเกิน 100 ต้น กะให้แต่ละต้นมีระยะห่างกันประมาณ 4×4 เมตร เสาวรสเป็นไม้เลื้อยเราจึงต้องทำค้างเตรียมไว้ให้ทันมันเลื้อยขึ้น เมื่อนำต้นกล้าลงปลูกแล้วให้ใช้หลักไม้ไผ่ขนาดเล็ก ความสูงถึงระดับค้างปักและผูกเถาติดกับหลักหรือเสาค้าง เพื่อให้ยอดของต้นตั้งตรงตลอดเวลา ต้นจึงจะเจริญเติบโตได้เร็วและต้องคอยผูกเถากับหลักอยู่เสมอๆ เมื่อยอดเจริญยาวขึ้น

เสาวรสต้องมีลำต้นเดียวตั้งแต่ระดับพื้นดินจนถึงค้าง จึงต้องคอยตัดหน่อที่งอกจากต้นตอและกิ่งของต้นออกให้หมด เพราะถ้ายอดของเถาห้อยลงจะทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโต หลังจาก 5 เดือนต้นก็จะแข็งแรงขึ้นถึงค้างแล้ว ตัดยอดบนค้างเพื่อบังคับให้แตกเถาใหม่ 3-4 กิ่ง จากนั้นจัดเถาให้กระจายออกไปโดยรอบต้นทั่วพื้นที่ของค้าง


เสาวรสจะสุกเมื่ออายุ 50-70 วันหลังดอกบาน ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว คือ เมื่อผลเปลี่ยนเป็นสีม่วงแล้วประมาณ 70 – 80 %เก็บเกี่ยวโดยใช้กรรไกรตัดขั้วผลจากต้น ให้ขั้วผลสั้นติดผล แล้วจึงนำมาบ่มเพื่อให้สีของผลสวยและมีรสชาติดีขึ้น โดยทั่วไปแล้ว จะเก็บเกี่ยวทุกๆ2-3 วันต่อครั้ง โดยธรรมชาติเสาวรสจะออกดอกและให้ผลผลิตเมื่อมีอายุประมาณ 5-7 เดือน จะให้ผลต่อเนื่องประมาณ 1 ปี ก็ควรรื้อต้นเก่าทิ้งไม่ให้เกิดการสะสมของโรคและแมลง


ที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือส่งเสริมเฉพาะพันธุ์ไทนุง รับประทานสดรสหวานเท่านั้น แต่เสาวรสเป็นผลไม้รสหวานอมเปรี้ยวอยู่แล้วไม่ใช่หวานสนิทข้อดีของเสาวรสพันธุ์นี้ คือ ผลกลมสีม่วงเข้ม สุกได้เองโดยไม่ต้องบ่ม

แปลงซูกินี (แตงกวาญี่ปุ่น)
ช่วงบ่ายออกเดินทางอีกครั้ง แต่ได้นั่งรถโครงการหลวง มีหัวหน้าพิชิตกรุณาเป็นพลขับให้ เพราะคงสงสารกลัวเราจะพารถลงข้างทางหลังฝนตกหัวหน้ากับพี่ต้อมจะพาพวกเราไปดูแปลงซูกินี ที่บ้านห้วยบง ถึงระยะทางจะไม่ไกลแต่กว่าจะถึงแปลงผักของลุงแก้วตาได้ พวกเราก็ถูกเหวี่ยงกันไปมาจนเราแอบดีใจที่ไม่ต้องขับรถมาเอง

แปลงแตงกวาญี่ปุ่นจะอยู่บนที่ดอน ช่วงนี้ฝนยังลงอยู่ก็ไม่ต้องดูแลรดน้ำ ที่ราบข้างล่างก็เป็นนาข้าว พอเกี่ยวข้าวแล้วก็ย้ายแปลงผักลงมาข้างล่าง เพราะเมื่อขาดฝนก็ต้องดูแลให้น้ำ

การปลูกแตงกวาญี่ปุ่นจะมีระยะเวลาสั้นมาก หลังจากดอกบานแล้วใช้เวลาประมาณ 5-6 วันก็จะเริ่มเก็บผลผลิต แตงเป็นพืชอวบน้ำ ดูดน้ำเข้าไปเพียงไม่กี่วันก็จะเริ่มเก็บได้ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนถ้าเก็บไม่ทันแตงอาจโตเกินขนาดที่ต้องการไปแล้ว ดังนั้นบางทีแต่ละวันก็ต้องคอยเก็บถึงตีสองตีสาม ฟังแล้วน่ากลัวจัง เหมือนว่าถ้าเรากินเข้าไปเราอาจจะตัวขยายขึ้นๆ เกินพิกัดก็เป็นได้นะ เมื่อแตงหมดอายุต้องรื้อทิ้ง ถ้าจะปลูกอีกก็ต้องย้ายแปลงใหม่ สมัยก่อนยังไม่เข้าใจก็จะปลูกในที่เดิมถ้าดินมีโรคจะใช้วิธีฆ่าเชื้อในดิน ตอนนี้กฎหมายห้ามใช้เพราะทำลายโอโซนทำลายคนปลูกคนกิน จะใช้วิถีธรรมชาติให้ตัดวงจรของโรคกันเองให้มันฟื้นฟูกันเอง

แปลงถั่วเข็ม

ทริปนี้เราจบกันที่บ้านพี่ศรีพลอย ดูแฮ อยู่บ้านห้วยบง ที่นี่มีทั้งแปลงถั่วเข็มที่กำลังปลูกใหม่และแปลงที่กำลังเก็บผลผลิต ถั่วเข็มก็คือถั่วแขกนั่นเอง แต่ถ้าเราเก็บตอนที่ขนาดยาวเท่ากำปั้น ก็จะชื่อถั่วเข็มมีรสหวานกรอบกว่าตอนเป็นถั่วแขก ขายได้ราคาดีกว่า แต่ก็ต้องใช้ความพยายามมากกว่า ถั่วจะออกมาพร้อมๆ กันเยอะมากเวลาเก็บ ต้องเลือกขนาดที่ต้องการ ต้องค่อยๆ เดินไป แหวกไป กว่าจะได้สักกิโลก็ใช้เวลามากพอสมควร เห็นคนเก็บสองคนเดินจากต้นแถวค่อยๆ แหวกไปเก็บไปอย่างใจเย็น พี่ศรีพลอยบอกถั่วมันเยอะก็ต้องรีบเก็บ บางวันก็อยู่กันถึงตีสามเลย เฮ้อ…ถ้ามีที่ทำไร่สักไร่หนึ่งเราจะไม่ปลูกแตงกวาไม่ปลูกฝักถั่วขายแน่เลย เวลาเก็บกันทีไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันขนาดนี้เป็นหนึ่งวันที่รู้สึกเหมือนเราผ่านมิติใหม่ๆ ได้รู้จักโครงการหลวงอีกมุมหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่ใกล้เพียงแค่นี้เอง แต่ไม่เคยรู้หรือเคยเห็นเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์ฯ แม่ทาเหนือมาก่อนเลย

 

ขอขอบคุณ…
คุณพิชิต วันชัย หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ
คุณกิตติ ทรงสุข (ต้อม) นักวิชาการพืชผัก
คุณพีรพันธุ์ อนันตพงศ์ (พี่พี) นักวิชาการไม้ผล
คุณรุ่งทิวา อินทะมา (พี่แอ๋ว) นักวิทยาศาสตร์
คุณสมเกียรติ ปาลี เจ้าของฟาร์มควายนม บ้านทาม่อน
คุณไพรัท อุดทา เจ้าของฟาร์มควายนม บ้านใหม่
คุณแก้วดา ปู่ตาแย / คุณขจรศักดิ์ ปู่ตาแย
เจ้าของสวนแตงกวาญี่ปุ่น บ้านห้วยบง
คุณศรีพลอย ดูแฮ เจ้าของสวนถั่วเข็ม บ้านห้วยบง
กลุ่มทอผ้าปาเกอญอ บ้านป่างิ้ว

เรื่องราวและภาพจาก
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ
ที่อยู่ : หมู่ที่ 3 บ้านห้วยบง ตำบลทาเหนือ
อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 50310
โทร 08 4806 4597, 08 7173 9023[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".