[:TH]ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง “ขุนวาง” (เห็ดปุยฝ้าย)[:]

[:TH]

ขุนวางเป็นพื้นที่ต่อเนื่องของดินแดนที่มีการปลูกฝิ่นจนมีแต่เขาหัวโล้นเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว

ในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ไปยังบ้านขุนวาง ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณนี้ยังมีพืชเสพติดอยู่มาก จึงรับสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบจำนวน 7 หมู่บ้าน คือ บ้านขุนวาง บ้านป่ากล้วยบ้านโป่งลมแรง บ้านโป่งน้อยเก่า บ้านห้วยยาว และบ้านขุนแม่วากซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้งและเผ่ากะเหรี่ยง

โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านไม้ผลเป็นลำดับแรก ต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านไม้ดอก เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน 499 ไร่ ครอบคลุม 7 หมู่บ้าน ประชากรที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 380 ครัวเรือน 2,005 คน

ศูนย์ฯ ขุนวาง ได้ส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่จนสามารถลดพื้นที่การบุกรุกป่าจากอดีต ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ส่วนมากจะปลูก
กะหล่ำปลีใช้พื้นที่กว่า 333 ไร่ เมื่อทางศูนย์ฯ ขุนวางได้ส่งเสริมเกษตรกร โดยให้เปลี่ยนมาปลูกผักในโรงเรือนทำให้สามารถลด
พื้นที่เพาะปลูกได้ถึงร้อยละ 80% สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้นจนสามารถเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้

6 ตุลาคม 2560
ออกเดินทาง เวลา 8.00 น. ไปศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง หลังจากหาข้อมูลพร้อมแล้วว่าถ้าอยากไปดูการเพาะพันธุ์เห็ด
ต้องไปที่ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง” นะ ไม่ใช่ไป “ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวาง” ที่นั่นเขาไปดูนางพญาเสือโคร่งกัน จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นแม่วาง-ขุนวาง เราจะต้องผ่านศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวางก่อน และเส้นจอมทอง-อินทนนท์ เราจะถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางก่อนเราเลือกทางเส้นจอมทอง-อินทนนท์ทางนี้จะอ้อมกว่าเล็กน้อย แต่เป็นทางที่คุ้นเคยมากกว่า ระหว่างทางอากาศครึ้มๆ เหมือนฝนจะตก

ถึงศูนย์ฯ ขุนวางได้พบกับผู้ประสานงานและจะคอยดูแลพวกเราวันนี้คุณนุ่ม (ศิริลักษณ์ ลัทธิประสิทธิ์) เจ้าหน้าที่ธุรการ กำลังรอพวกเราอยู่ ได้รับรู้ข้อมูลเบื้องต้นกันพอประมาณว่าที่นี่เน้นปลูกผัก ปัจจุบันผักรายได้เยอะที่สุดรองลงมาเป็นไม้ผล เช่น เสาวรส สตรอว์เบอร์รี่ เคพกูสเบอร์รี่ และมีผลไม้น้องใหม่ คือ เปปปีโน พืชอีกอย่างที่ส่งเสริม คือ ชา ชาของที่นี่แตกต่างจากที่อื่น เพราะอยู่บนพื้นที่สูงกว่า ทำให้ได้คุณภาพชาดีไม้ดอกก็จะเป็น ไลเซนทัส มีปลูกที่นี่ที่เดียวและที่ส่งเสริมทำรายได้ดีอีกอย่าง คือ การเพาะเห็ด มีทั้งเห็ดปุยฝ้ายเห็ดพอร์ตโตเบลโล ซึ่งเป็นเป้าหมายของเราในทริปนี้

เห็ดปุยฝ้าย หรือเห็ดหัวลิง หรือเห็ดยามาบุชิตาเกะ
(Lion’s Mane, Hedgehog Mushroom)
ระหว่างคุยกันฝนตกลงมา คุณนุ่มเลยพาพวกเราเข้าเรือนเพาะเห็ดเพราะอยู่ใกล้ที่สุดได้พบกับ อ.อ้วน (สมาน สุปินนะ) นักวิชาการเห็ดกับกลุ่มยุวเกษตรกรกำลังขนก้อนเห็ดที่เพาะเชื้อแล้วเข้าไปในโรงบ่ม กลุ่มยุวเกษตรกรก็คือกลุ่มที่ทางศูนย์ฯ ขุนวางตั้งขึ้น เพื่อให้เด็กที่เรียนจบแล้วสนใจมาศึกษาร่วมกับระบบงานโครงการหลวง เด็กส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ พ่อแม่เป็นเกษตรกรภายในศูนย์ฯ อยู่แล้ว จะมีการเปิดรับให้เรียนรู้เป็นรุ่นๆ ไป รุ่นนี้เป็นรุ่นแรก มีทั้งหมด 30 คน แบ่งออกไปตามความสนใจ ให้เรียนรู้จนกลายเป็นเกษตรกรที่ดีในอนาคต ไม่มีการจำกัดระยะเวลา เรารู้สึกว่านี่เป็นโครงการสานต่อที่พ่อทำไว้ ได้ดีมากๆ เลย

ที่โรงเรือนนี้เป็นที่อัด “ก้อนเพาะเห็ดปุยฝ้าย” และนึ่งฆ่าเชื้อพร้อมหยอดเชื้อเห็ด เด็กๆ กำลังช่วยกันขนก้อนเพาะเห็ดที่เสร็จเรียบร้อยแล้วขึ้นรถเพื่อจะนำเข้า “โรงบ่ม” เพราะอากาศที่นี่ชื้น เวลาหนาวก็หนาวจัดจึงต้องมีโรงบ่ม ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ประมาณ 25-30 ํC

เห็ดปุยฝ้าย จะต้องใช้เวลาในการบ่มประมาณ 2 เดือนกว่าๆ การบ่มคือการทำให้ “เชื้อเดินเต็มก้อน” ถ้าเชื้อเดินเต็มก้อนเรียบร้อยจึงจะย้ายไปที่ “โรงเปิดดอก”

ที่โรงเปิดดอก มี “ก้อนเพาะเห็ด” ที่มีเส้นใย (เชื้อ) เดินเต็มก้อนแล้ววางเรียงซ้อนกันในช่องที่เตรียมเอาไว้ โดยหันปากถุงไปทางเดียวกับด้านที่เข้าไปเก็บดอกได้สะดวก คนเพาะจะต้องพ่นน้ำเป็นฝอยๆ ทุกวันวันละ 1-2 ครั้ง มีการติดตั้งระบบอีแวป ( EVAP) คือ ระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งของที่นี่จะเป็นอีแวปแบบ 2 in 1 คือ ตัวดูดอากาศกับตัวให้ความเย็นอยู่ในตัวเดียวกัน ซึ่งถือเป็นโรงเรือนต้นแบบ

ปกติเห็ดนั้นถ้าปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ฤดูที่เหมาะสม คือฤดูฝน มันก็ออกดอก แต่เมื่อได้พัฒนานำระบบอีแวปมาใช้ตอนนี้เห็ดที่นี่ก็เลยออกดอกได้ทั้งปี เกษตรกรก็มีรายได้มากขึ้น

เราได้พบกับพี่วรรณ (รัชณีวรรณ วงศ์ชยางกูล) เกษตรกรที่เช่าโรงเรือนที่นี่เพาะเห็ด พี่วรรณเริ่มทำก้อนเห็ดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม
ผลผลิตเริ่มออกเดือนกรกฎาคม เก็บเกี่ยวยาวไปจนถึงธันวาคม ถ้าดูแลดีๆ สามารถเก็บได้เป็นปี เห็ดที่โตเต็มที่แล้วพอเก็บดอกไปอีกประมาณ1 อาทิตย์ดอกใหม่ก็จะออกมาอีก ออกแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเชื้อเห็ดที่มีจะหมด ก่อนที่จะออกดอกใหม่จะต้องมาแต่ง แคะเศษต่างๆ ที่เหลืออยู่ออก ทำความสะอาด ถ้าบริเวณนั้นเป็นสีน้ำตาล แสดงว่ามันเป็นโรคจะเอาแอลกอล์ฮอลมาเช็ดเพื่อฆ่าเชื้อแล้วดอกจึงจะออก

เห็ดปุยฝ้ายนี้มีเชื้อสายมาจากประเทศจีน มันจะใหญ่ได้ถึง 30 เซนติเมตร แล้วพอแก่จะกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ ขนฝอยๆ ของมันห้อยลงมาทำให้ดูคล้ายหัวลิง ก็เลยมีอีกชื่อว่า “เห็ดหัวลิง”

แล้วดูเหมือนเห็ดนี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการมากเลยแหละในประเทศจีนเขาเอามาต้ม ผัด แกง ทอด เป็นเมนูสุขภาพชั้นดี
ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 4 อาหารชั้นเลิศของประเทศจีนเลย

เห็ดพอร์ตโตเบลโล (Portobello Mushroom)
เห็ดพอร์ตโตเบลโล หรือเห็ดกระดุมสีน้ำตาล เป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงในที่ที่มีอากาศหนาวอุณหภูมิประมาณ 20-25 ํC มีลักษณะดอกเห็ดสีน้ำตาล ขนาดดอก 2-6 นิ้ว ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี เพราะอยู่ ในห้องควบคุมอุณหภูมิ การเพาะเห็ดพอร์ตโตเบลโลจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าเห็ดปุยฝ้าย เกษตรกรที่สนใจจะต้องเข้ามาทำที่โรงเพาะของศูนย์ฯ ขุนวางเท่านั้น เพราะต้องลงทุนสูงถ้าผิดพลาดมาจะไม่คุ้ม เห็ดชนิดนี้ต้องเพาะในที่มืด ใช้เพียงฟางข้าวและดินสำหรับกลบหน้านิดหน่อย ดินที่ใช้จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อและปรับค่า pH ให้อยู่ที่ 7-14 การใช้ดินกลบก็เพื่อให้รูปร่างของเห็ดจะออกมาแน่นอน มิฉะนั้นก้านมันจะใหญ่ ดอกจะเล็กนิดเดียว

ได้ความรู้พอประมาณ ได้ภาพจนพอใจพวกเราก็ออกจากโรงเห็ดใกล้เที่ยงแล้วเลยแวะทานอาหารที่ทุกอย่างประกอบด้วยเห็ด ภายในศูนย์ฯ ขุนวาง อาหารทุกอย่างหน้าตาน่าทานรสชาติอร่อย แถมวิวยังดี มองออกไปเห็น “น้ำตกผาดำ” ไกลๆถ้าเวลาเหลือจะแวะไปดู


ดอกไลเซนทัส (Lisianthus)
ทานข้าวเสร็จคุณนุ่มพาไปพบกับ อาจารย์กร (นิกร บัวปอน)นักวิชาการส่งเสริมไม้ดอก อาจารย์กร พาไปดูการปลูก ดอก
ไลเซนทัส ต้นมีลักษณะคล้ายถั่วลันเตา ดอกคล้ายกุหลาบแต่จะออกเป็นช่อดอก ไม่ใช่ดอกเดี่ยวเหมือนดอกกุหลาบ มีทั้งหมด 7- 8 สี แต่ที่ศูนย์ฯ ขุนวาง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพียง 3 สี คือ สีขาว สีเหลืองสีชมพู ดอกไม้ชนิดนี้ชอบอากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ 18-25 ํC ปลูกได้ตลอดปี เป็นพืชที่ต้องการแสงมาก จึงต้องเปิดไฟให้มันวันละ4 ชั่วโมง เพื่อให้ก้านมันยืดยาว การปลูกต้องใช้เวลานานหน่อย ใช้เวลาเพาะเมล็ด 2 เดือน (ทางศูนย์ฯ เป็นคนเพาะ) แล้วเอาลงแปลงประมาณ4 เดือนถึงจะเก็บดอกได้ ถ้าเป็นพันธุ์หนักใช้เวลาปลูกประมาณ 5 เดือนทางศูนย์ฯ จะพยายามส่งเสริมให้ปลูกพันธุ์เบา เพื่อจะได้ตัดดอกเร็วๆดอกไลเซนทัสนี้กลีบจะบางๆ ดูอ่อนนุ่ม แต่ไม่ช้ำง่าย อยู่ได้นาน ถ้าตัดดอกขายจะอยู่ได้ประมาณ 2 อาทิตย์

พันธุ์เบา หมายถึง พันธุ์ที่ดอกจะออกเร็ว ต้นจะเล็กกว่าพันธุ์หนักดอกจะบานช้า ต้นสูงใหญ่ เราสามารถดูได้ว่าพันธ์ุหนักหรือเบาจากหมายเลขที่กำกับไว้ พันธุ์เบาจะเป็นเลข 2 ห้อยท้าย ถ้าเลข3 ห้อยท้ายจะเป็นพันธุ์หนัก

โรงเรือนนี้เป็นโรงเรือนที่ศูนย์ฯ ขุนวาง เปิดให้เกษตรกรมาเช่า ตอนนี้มีประมาณ 10 กว่าราย ปลูกไลเซนทัส 5 ราย บางรายก็ปลูกแบบกระถางแบบกระถางถ้าตัดครั้งหนึ่งสามารถเลี้ยงต้นให้เป็นรุ่นที่ 2 ได้ เวลาเกษตรกรนำมาขายคืนให้ทางศูนย์ฯ จะได้กำละ 150 บาท กำหนึ่งมี10 ก้าน ความยาวประมาณ 70 ซม.ดอกไลเซนทัส ทางศูนย์ฯ ขุนวาง เพิ่งเริ่มส่งเสริมได้แค่ปีเดียว ทำวิจัยอยู่ 3 ปี มีปลูกที่ขุนวางที่แรกและที่เดียว

ออกจากสวนดอกไม้เราก็ไปที่แปลงเกษตรของชาวบ้าน อยู่ข้างนอกศูนย์ฯ ขุนวาง พี่อาหลู่ (อดิชัย ศรีลิมปนนท์) นักวิชาการไม้ผล
เป็นคนพาเราไป ออกมาไม่ไกลนักพี่อาหลู่จอดรถไว้ริมถนน เราจะต้องเดินเข้าไปในแปลงอีกพอสมควร พอไปถึงที่แปลงเกษตรได้พบกับพี่บุญลือ แซเหล – พี่เต้า แซงยะ สองสามีภรรยาและลูกเล็กๆ อีก3 คน ทั้ง 2 คนพาเราไปที่แปลงของต้นเปปปิโน

เปปปีโน
“เปปปีโน” เมื่อตอนได้ยินชื่อก็รู้สึกไม่คุ้นเคย ยิ่งได้มาเห็นผลดูเหมือนมะเขือยักษ์ ยังนึกไม่ออกว่ารสชาติจะเป็นผลไม้ได้อย่างไร เขาบอกว่ารสคล้ายๆ แคนตาลูป กำลังเริ่มส่งเสริมและเปิดตัวปีนี้ คนเริ่มรู้จักและชอบกันมากขึ้นเรื่อยๆพี่อาหลู่บอกว่า ชาวบ้านที่นี่รู้จักกันมานานแล้ว เขาเรียกกันว่ามะเขือหวาน เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะเขือ ตระกูลแตง ต้นจะเหมือนมะเขือ แต่กลิ่นจะเหมือนแตงเมล่อน เปปปิโนมีปลูกแถวนี้มานานแล้วเห็นว่ามาจาก UN เอามาให้ชาวบ้านทดลองปลูกกัน แต่ไม่ค่อยมีใครชอบทานก็ปลูกๆ กันไปตามมีตามเกิด ผลผลิตก็เป็นลูกเล็กๆ เก็บขายให้นักท่องเที่ยวบ้างตามข้างถนน เมื่อ 2-3 เดือนก่อนนี้เอง พี่บุญลือเก็บมาให้อาจารย์ลองชิม เพื่อขอให้ทางโครงการหลวงช่วยส่งเสริมอาจารย์เลยส่งเสริมให้ปลูก ตอนนี้ยังมีแค่พี่บุญลือนี่แหละที่ปลูก ปลูกกัน
ไปทดลองกันไป ผลผลิตก็เริ่มโตขึ้น ถ้าดูแลดีๆ ผลแก่จัดจะหวานหอม

วิธีการปลูกก็ง่ายๆ เอายอดต้นเดิมที่ปลูกตามมีตามเกิดมาชำแล้วนำไปปักลงดิน ถ้าความชื้นดีประมาณ 1-2 อาทิตย์ มันจะออกราก แล้วเอามาปลูกใส่ในถุง หลังจากนั้น 3 เดือนจะได้ผลผลิต หนึ่งต้นจะออกผลเป็นพวงมีหลายลูก แต่ต้องตัดออกให้เหลือลูกเดียว ถ้าไม่ตัดลูกจะไม่โตต้นที่เราเห็นมีอายุ 5 เดือน

ยังไม่ทันได้ชิมรสเปปปิโนว่าจะเหมือนแคนตาลูปจริงไหม เมฆก้อนดำๆ ก็มุ่งหน้ามาทางเราอีกแล้วเลยรีบกลับ แต่วิ่งมายังไม่ถึงรถฝนก็ตกลงมาหนักมาก โชคดีที่นุ่มคงเข้าใจฝนบนเขานี้ดี เตรียมร่มมาเผื่อพวกเราด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเรา 3 คน ร่ม 1 คัน ก็ยังเปียกไม่เป็นท่ากันถ้วนหน้ากลับมาถึงศูนย์ฯ ประมาณ 4 โมงเย็น ฝนไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลงเลย จึงตัดสินใจกันว่าวันนี้พอแค่นี้ก่อนแล้วกัน

7 ตุลาคม 2560
เช้านี้เรานัดกัน 8 โมง ฝนเพิ่งหยุดตก วันนี้ พี่เดี่ยว (ทวีโชต อินปัญญา) นักวิชาการผัก จะพาเราไปที่สวนของชาวบ้าน ที่แรกที่ไปคือ โรงงานชาที่ขุนแม่วาก ระหว่างทางอากาศดีมาก พวกเราดีใจวันนี้ฟ้าสวยแจ่มใส แดดออกตลอดทาง แต่พี่เดี่ยวบอกยิ้มๆ ว่า…อย่าได้ไว้ใจเช้าเมื่อวานก็เป็นแบบนี้แหละ…แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพียงไม่นานเราก็พบกับบรรยากาศมืดครึ้มด้วยหมอกหนาจนมองไม่เห็นท้องฟ้าอีกต่อไป

ไร่ชาและโรงงานชา
ถึงโรงผลิตชา มีเจ้าหน้าที่รอชงชาต้อนรับอยู่หน้าโรงงาน ชื่อพี่ดี(นราธิป จันทร์ไตร ) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมชาจีน พี่ดีไม่รอช้ารีบชงชา
เพื่อต้อนรับพวกเรา ได้จิบชาอุ่นๆ ท่ามกลางหมอกหนาๆ มองไปข้างหน้าเป็นไร่ชา แหม…บรรยากาศมันได้จริงๆ ชิมชาไปพี่ดีก็เล่ากรรมวิธีในการผลิตชาอู่หลงให้เราฟังไปด้วย

ชาที่นี่จะเริ่มเก็บตอน 8 โมงเช้า ที่ไม่เก็บตอนเช้ามากๆ เพราะมีเรื่องของน้ำค้างแข็ง ถ้าสายหน่อยใบจะแห้ง แห้งแล้วจะดีกว่า

เสร็จแล้วก็เอามาผึ่งเพื่อให้ได้รับแสงแดดอ่อนๆ ใต้สแลน แดดจะเป็นตัวที่ทำให้ชามีกลิ่นหอม จะคลายความฝาดความขม ใช้เวลาตากประมาณ 1 ชั่วโมง จนอ่อนตัว แต่ก็ต้องคอยพลิกให้ชาได้รับแสงแดดทุกใบแล้วไปผึ่งต่อในห้องแอร์ 8 ชั่วโมง แล้วเข้าเครื่องเขย่าเพื่อไล่กลิ่นเหม็นเขียว เอาชาใส่กระด้งแบนๆ หมักไว้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง (หมักในความหมายของขั้นตอนนี้ก็คือทิ้งไว้เฉยๆ)

จากนั้นกลิ่นชาก็จะออกมาแล้วจึงนำไปคั่ว ประมาณ 7-8 นาที เพื่อหยุดการทำงานของชา ให้คงสี คงกลิ่น คงรสชาติไว้ประมาณนั้น เหมือนสตาฟไว้ ถ้าผ่านไปเกิน 2 ชั่วโมงแล้วไม่คั่วกลิ่นก็จะหายไป

คั่วแล้วนำมานวด นวดแล้วพักชา 4 ชั่วโมง แล้วเอามาทำให้เป็นเม็ดๆ เสร็จแล้วส่งไปศูนย์ฯ แม่เหียะแพคสูญญากาศเพื่อจำหน่าย ถ้า
แพคสูญญากาศจะทำให้คงคุณภาพไว้ เก็บได้นาน 2-3 ปี

ชิมชาแล้วมีความรู้บ้างแล้ว ก็ลงไปแปลงชา เกษตรกรที่ปลูกชาของที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเก่าๆ เพราะการปลูกชาต้องใช้เวลานานเกษตรกรรุ่นใหม่จะหันไปปลูกพืชผักอย่างอื่น ที่ใช้เวลาแค่ 3-4 เดือนก็ได้ผลผลิต เจ้าของไร่ชาที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง ชื่อ ลุงตือ-ป้าเย้ง แซ่ลี ทั้ง2 คน ปลูกชาที่นี่มานานกว่า 20 ปีแล้ว ส่งเข้าที่โครงการหลวงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


หลังจากนั้นเราได้ไปดูไร่ชาอีกที่หนึ่ง ต้องขับเข้าไปลึกหน่อย แปลงนี้ถ้ามองจากด้านบนลงไปจะเห็นเป็นรูปหัวใจ ธรรมชาติโดยรอบสวยมากแต่น่าเสียดายที่ภูเขาด้านหลังที่เห็นกำลังจะเป็นเขาหัวโล้น ได้รู้ว่าชาวบ้านที่นี่กำลังถางป่าเพื่อปลูกสตรอว์เบอร์รี่ มีนายทุนเข้ามาสนับสนุนให้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ปลูกแล้วได้กำไรดี ชาวบ้านก็เลยหันไปปลูกกันมากมาย เห็นแล้วน่าตกใจเพราะตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าการทำพืชสวนนั้นต้องเข้าใจดินให้เพียงพอ ถ้าเราปลูกพืชชนิดใดชนิดเดียวไปนานๆ ดินก็เริ่มเสีย ปลูกไม่ได้ผลดีเหมือนตอนแรกก็ต้องย้ายหาที่ใหม่ต่อไปในที่สุดป่าและต้นน้ำลำธารของ “พ่อ” ก็คงหายไปหมด

เราต้องเรียนรู้ให้เข้าใจก่อนลงมือทำสิ่งใด และนี่คือหลักหรือหัวใจในการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ที่เราเริ่มเข้าใจ

ดอกยูโคมิส (Eucomis, Pineapple Lily)
แปลงถัดกันไม่ไกลนัก เป็นแปลงปลูก ดอกยูโคมีส พี่ซอดีพรศิริโสภา เจ้าของแปลงกำลังจะเก็บดอกไปส่งให้โครงการหลวงพอดี
ยูโคมิสเป็นไม้ดอกประเภทหัวที่สามารถผลิตเป็นไม้ตัดดอก และทำไม้กระถางได้เพราะมีอายุการใช้งานนาน ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ดอกจะออกเพียงปีละครั้ง ถ้าดอกหมดแล้วต้องขุดหัวพันธุ์มาเข้าห้องเย็นอุณหภูมิ 2 ํC แล้วนำกลับมาปลูกใหม่ได้อีก เวลาจะเก็บดอกต้องดูว่าดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจึงจะเก็บได้ โครงการหลวงรับซื้อดอกคืนในราคาช่อละ 40 บาท ถ้าเกรดไม่ค่อยดีก็ 25 บาท ศูนย์ฯ ขุนวางเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมาได้ 3 ปีแล้ว

ผักกาดหัวญี่ปุ่น
เราไปต่อกันที่ แปลงผักกาดหัวญี่ปุ่น มันก็คือหัวไชเท้าที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ แต่เป็นพันธุ์มาจากญี่ปุ่น จะเป็นแบบไหล่เขียว คือ ข้างบนเป็นสีเขียวแล้วไล่ไปเป็นสีขาว เจ้าของสวนเป็นชาวปากาเกอญอ ชื่อดิเรก เกียรติศิรินามชัย ดิเรกบอกว่าช่วงนี้มีปัญหาเรื่องถอนใหญ่“ถอนใหญ่” คือ ผลผลิตมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ตลาดต้องการ ส่วนการปลูกจะใช้วิธีการหยอดเมล็ดลงหลุมทีละเมล็ด หลังจากหยอดแล้วประมาณ 45 วัน จะได้เก็บผลผลิต ผลผลิตที่ได้ส่งเข้าโครงการหลวงทั้งหมด ถ้าช่วงหน้าร้อนประมาณ 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) ที่นี่จะพักแปลงเพราะน้ำน้อย ทำการเกษตรไม่ได้ก็จะเปลี่ยนไปรับจ้างแทน

ก่อนกลับแวะโรงเรือนสำหรับเพาะกล้าของศูนย์ฯ ขุนวาง กล้าทั้งหมดจะถูกเพาะที่นี่ เพราะอุณหภูมิเหมาะสม ข้างๆ โรงเพาะกล้ามี
แปลงทดลองข้าวพันธุ์ไก่ป่า เป็นพันธุ์ข้าวจ้าวพื้นเมืองของชาวเขา เม็ดจะอ้วนๆ พื้นที่ตรงนี้เป็นนาข้าวที่ศูนย์ฯ ขุนวางเช่าที่ชาวบ้าน แล้วให้ชาวบ้านมาเช่าที่เพื่อทดลองปลูกข้าวอีกที ปลูกไปด้วยทดลองไปด้วยสาธิตไปด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้

หลังจากคุยเรื่องข้าว ได้ซักพักแล้วฝนก็ตกลงมา ดูเหมือนทริปนี้เราหนีฝนไม่พ้นเลย แต่ความเข้าใจของเราก็ค่อยๆ เติมเต็มด้วยเรื่องราวรายละเอียดตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย ที่ค่อยๆ ปิดช่องว่างของความไม่เข้าใจ เราค่อยๆ เชื่อมต่อทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของมูลนิธิโครงการหลวงเข้าด้วยกัน ด้วยความอบอุ่นจากน้ำใจของเจ้าหน้าที่ และลุงๆ ป้าๆสมาชิกเกษตรกรของศูนย์ฯ ทุกแห่ง ที่พยายามบอกเล่าให้เราได้ฟังจนเข้าใจมากขึ้น และเราก็พยายามจะจดจำทุกสิ่งที่ได้รู้ เพื่อนำไปเผยแผ่แก่ผู้ที่อาจยังไม่ค่อยเข้าใจการปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวงเหมือนเราก่อนที่จะได้เข้ามา

ขอขอบคุณ…
คุณวัชระ พันธุ์ทอง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง
คุณสมาน สุปินนะ (อ.อ้วน) นักวิชาการเห็ด / หัวหน้าศูนย์ย่อยแม่วาก
คุณนิกร บัวปอน (อ.กร) นักวิชาการส่งเสริมไม้ดอก
คุณอดิชัย ศรีลิมปนนท์ (อาหลู่) นักวิชาการไม้ผล
คุณทวีโชต อินปัญญา (พี่เดี่ยว) นักวิชาการผัก
คุณนราธิป จันทร์ไตร (พี่ดี) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมชาจีน
คุณศิริลักษณ์ ลัทธิประสิทธิ์ (นุ่ม) เจ้าหน้าที่ธุรการ
คุณรัชนีวรรณ วงศ์ชยางกูล เจ้าของโรงเรือนเห็ดปุยฝ้าย
นางเต้า แซงยะ / นายบุญลือ แซเหล เจ้าของสวนเปปปิโน
คุณดิเรก เกียรติศิรินามชัย เจ้าของสวนผักกาดหัวญี่ปุ่น
คุณซอดี พรศิริโสภา เจ้าของสวนดอกยูโคมิส

เรื่องราวและภาพจาก…
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง
ที่อยู่ : บ้านขุนวาง หมู่ 12 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง
จังหวัดเชียงใหม่ 50330
โทรศัพท์ : 0 5331 8333, 08 8413 7243[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".