[:TH]สถานีเกษตรหลวง “อินทนนท์” (ดอกเยอบิร่า)[:]

[:TH]

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เป็นสถานีวิจัย 1 ใน 4 ของมูลนิธิโครงการหลวง ตั้งขึ้น พ.ศ. 2522 ตามพระราชประสงค์ของ พระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นสถานีรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว รวมถึงงานประมงพื้นที่สูงเพื่อการส่งออก ส่งเสริม พัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรชาวไทยภูเขา รวมทั้งเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมใหม่ จากงานวิจัยด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูงไปสู่สังคมสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 513 ไร่ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
11 หมู่บ้าน 33 หย่อมบ้าน ซึ่งประกอบไปด้วยชาวไทยภูเขาเผ่าม้งและปกาเกอะญอ

มีศูนย์ย่อย 4 หน่วย ได้แก่
– สถานีบ้านขุนกลางเน้นการส่งเสริมเรื่องผัก
– สถานีวิจัยขุนห้วยแห้ง วิจัยดอกไม้เมืองหนาว มีโรงเรือนคัดไม้ดอก
– หน่วยแม่ยะน้อย ส่งเสริมเรื่องการปลูกกาแฟ
– หน่วยผาตั้ง ส่งเสริมเรื่องปศุสัตว์

11 ตุลาคม 2560
ออกเดินทางเวลา 07.30 น. ฝนตกหนักตั้งแต่เมื่อคืน เช้านี้ท้องฟ้าก็ยังมืดครึ้ม ยิ่งใกล้ดอยเท่าไหร่ก็ยิ่งมืดมิด วันนี้เราจะไปสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์แต่มองหาดอยไม่เจอเลย ความหวังในการเดินทางดูริบหรี่ระหว่างทางขึ้นเลยด่านตรวจไปนิดหนึ่ง สิ่งที่เราเห็นยิ่งทำให้ตกใจ น้ำตกที่เคยเห็นระหว่างทางจากที่เคยใสกลับกลายเป็นน้ำสีแดงขุ่นและไหลเชี่ยวรุนแรงแบบไม่เคยเห็นมาก่อน ขึ้นไปเรื่อยๆ สองข้างทางที่เป็นเขาจะมีน้ำไหลมาเหมือนน้ำตกระหว่างโขดหินในทุกๆ ที่ เราเริ่มกังวลว่าเราจะต้องเจอกับน้ำป่าอย่างที่เห็นในข่าวกับเขาหรือเปล่า

แต่ในที่สุดเวลา 9.30 น. พวกเราก็มาถึงสถานีฯ อินทนนท์ คุณแซนดี้ (กัญญาณี อภิวงค์) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ นัดไว้ที่สโมสร คุณแซนดี้เป็นสาวน้อยอารมณ์ดีคุยไปหัวเราะไป บอกว่าที่นี่เป็นสถานีวิจัยที่เน้นในหลายๆ ด้าน ทั้งงานวิจัย งานส่งเสริม และการท่องเที่ยวด้วย โดยงานวิจัยและส่งเสริมจะเน้นที่ ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ถุงไม้กระถาง และไม้ผล ส่วนการท่องเที่ยวนั้น จะเน้นให้นักท่องเที่ยวที่มาได้ชื่นชมพันธุ์ไม้สวยงามต่างๆ และยังเป็นศูนย์เรียนรู้อีกด้วย

โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้
ที่แรกที่ไป คือ โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับซึ่งไม่ค่อยทนต่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ภายในโรงเรือนแห่งนี้จัดตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด ด้านหน้าสุดเป็นดอกบิโกเนียสีแดงสด เป็นไม้อวบน้ำ เดินเข้าไปด้านในได้เจอกับ รองเท้านารีอินทนนท์ เป็นพันธุ์ไม้ที่พบครั้งแรกแถวกิ่วแม่ปานนี่เอง ทางสถานีฯ อินทนนท์จึงนำมาขยายพันธุ์ แล้วนำคืนสู่ธรรมชาติถือเป็นพันธุ์ไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ จึงต้องมีการอนุรักษ์ไว้

บริเวณกลางสวนจะมีดอกกุหลาบหลากสี ด้านหลังมีดอกไฮเดรนเยียสีหวานๆ แถมยังดอกใหญ่มากด้วยไฮเดรนเยียนี้เป็นพันธุ์ของประเทศญี่ปุ่นมีหลายสี เปลี่ยนสีไปตามสภาพความเป็นกรดและด่างของดิน และธาตุอาหารที่ได้รับ เดินวนกลับมาเจอกับดอกไม้เล็กๆ หลากหลายสีน่ารักดี ลักษณะเหมือนโคมไฟ มีชื่อว่าโคมญี่ปุ่นหรือตุ้มหูนางฟ้า บริเวณก่อนทางออกมีดอกกล้วยไม้ตระกูลแวนด้าทั้งสีขาวและม่วงเยอะแยะไปหมด จะว่าไปเราก็พอเคยเห็นเกือบทั้งหมด แต่ที่แตกต่างกว่าที่อื่นก็ตรงที่แต่ละชนิดจะมีสีสันที่แปลกและสะดุดตา ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ประดับตกแต่งที่น่าสนใจทีเดียว

โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิร์น
ในที่สุดฝนก็ตกลงมา พวกเราฝ่าสายฝนไปต่อกันที่โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิร์นของไทยและต่างประเทศกว่า 50 สกุล 200
กว่าสายพันธุ์ มีทั้งเฟิร์นที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมี เฟิร์นรัศมีโชติ คือ เฟิร์นลูกผสมพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย ที่เกิดจากการทดลองผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างกูดดอยนิวคาลิโดเนียกับกูดดอยบราซิล ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ก้านใบจะมีขนสีดำปกคลุมทำให้ดูเก่าแก่คล้ายเฟิร์นโบราณ และยังได้รับพระราชทานนามอันเป็นมงคลจากในหลวง รัชกาลที่ ๑๐ ตามพระนามของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เวลาเข้ามาในโรงเรือนนี้จะมีความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์แบบจูราสิคพาร์คที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวๆ ชื้นๆ และหน้าตาแปลกๆ

บ้านไม้หลังเล็กๆ ชั้นเดียว ตั้งอยู่บนเนินเขาด้านหน้าสโมสร บ้านหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านหม่อมเจ้า” คือบ้านทรงงาน ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรและชาวโครงการหลวงอินทนนท์ ในปี 2532 และปี 2534 พระองค์ทรงใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ประทับทรงงาน นอกจากนี้ยังเป็นที่ใช้ทรงงานของพระบรมวงศานุวงค์อีกด้วย ปัจจุบันเป็นที่ทำงานของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธาน มูลนิธิโครงการหลวง

โรงคัดบรรจุดอกไม้
ช่วงบ่ายคุณแซนดี้พาออกไปข้างนอกสถานีฯ อินทนนท์ เพื่อไปที่สถานีวิจัยขุนห้วยแห้ง ดูการวิจัยไม้ดอกเมืองหนาว และโรงคัดบรรจุดอกไม้ที่นั่น ฝนตกลงมาหนักมาก ต้องรีบวิ่งเข้าไปด้านใน ได้พบคุณบี(ฟองจันทร์ รุกข์อนุรักษ์) เจ้าหน้าที่คัดบรรจุ วันนี้ฝนตกเลยยังไม่มีเกษตรกรมาส่งดอกไม้ ระหว่างรอคอยดอกไม้เราก็ได้รู้จัก “ดอกบูวาร์เดีย” มีลักษณะคล้ายดอกเข็ม เป็นดอกเล็กๆ มีสีชมพูและสีขาวยังอยู่ในช่วงปลูกทดลองยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เขากำลังเตรียมแพคส่งศูนย์ใหญ่

ด้านในอีกห้องหนึ่งกำลังคัดแยกดอกกุหลาบ กุหลาบที่นี่ดอกใหญ่และสีสันแปลกตา เป็นพันธุ์มาจากฮอลแลนด์ นำมาวิจัยและทดสอบตลาด และทดสอบอายุการปักแจกัน จึงจะส่งเสริมต่อให้ชาวบ้าน อายุการปักแจกัน ถ้าบนดอยอยู่ที่ 3 สัปดาห์ ข้างล่างอยู่ที่ 1-2 สัปดาห์

ขั้นตอนการเก็บกุหลาบ จะตัดดอกวันละ 2 ครั้ง เช้า บ่าย ตัดแล้วจะนำมาแช่สารละลายกรดซิตริกทันทีเพื่อป้องกันดอกเหี่ยว ใช้เวลาแช่1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำมาส่งที่โรงคัดเพื่อคัดเกรด แล้วนำมาเข้ากำกำละ 10 ดอก ห่อดอกด้วยกระดาษลูกฟูก (เพื่อกันดอกช้ำ) หลังจากนั้นนำมาแช่สารละลายเกล็็ดเงินไธโอซัลเฟตประมาณ 2-4 ชั่วโมงเพื่อยืดอายุการปักแจกัน แล้วนำไปบรรจุใส่กล่องเก็บในห้องเย็นอุณหภูมิ 2-5 ํC มีการส่งเสริมให้ปลูกมากที่สุดที่บ้านผาหมอน

ฝนซาแล้ว เริ่มมีเกษตรกรมาส่งดอกเยอบีร่า เยอบีร่านี้ ได้พันธุ์มาจากฮอลแลนด์เช่นเดียวกับกุหลาบ นำมาวิจัยเรื่องผลผลิตว่าออกดอกดีไหมตลาดต้องการไหม อายุปักแจกันต้อง 1 สัปดาห์ขึ้นไป ทางศูนย์มีทั้งหมด14 สายพันธุ์ 14 สี เวลาขายให้เกษตรกรจะขายเป็นแบบต้นกล้าปลูกต่ออีก 2-3 เดือน ก็ได้ผลผลิต แต่ละฤดูสีของดอกก็ไม่เหมือนกันเวลาเอามาส่งที่ห้องคัดต้องเอามาเป่าลม ให้หน้าดอกแห้งก่อนที่จะแพคไม่มีการแช่น้ำยาที่โคนดอกเหมือนกุหลาบ

การบรรจุหีบห่อแต่ละดอกจะห่อด้วยพลาสติกใสแล้วมัดเป็นกำ กำละ10 ดอก ตัดปลายก้านออกเล็กน้อยเพื่อให้ก้านดอกดูดน้ำได้ดี แช่ดอกเยอบีร่าในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ใช้เวลา 4-6 ชั่วโมง แล้วแช่ในน้ำสะอาดเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 4 ํC นาน 1 คืน เพื่อรอการขนส่ง

ก่อนการขนส่งจะบรรจุดอกลงในกล่องกกระดาษโดยหันดอกไปทางด้านกว้างของกล่องทั้ง 2 ข้าง วางดอกเป็นชั้นๆ จนแน่นเต็มกล่องอย่าให้กล่องหลวมเพราะดอกจะช้ำระหว่างขนส่ง

เกษตรกรจะมาส่งดอกไม้ทุกวันจันทร์ พุธ และเสาร์ ถ้าช่วงไหนดอกเยอะก็จะรับทุกวัน เมื่อเกษตรกรมาส่งทางสถานีฯ จะทำการแพค
และส่งต่อไปยังศูนย์ฯ ที่แม่เหียะ ไม่เกินตี 5 พอบ่ายๆ ก็ส่งต่อไปที่ กทม.


ประมงน้ำจืด
ขากลับได้แวะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ที่นี่ทดลองการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน และปลาเรนโบว์เทราต์ ที่สามารถให้ ไข่ปลาคาเวียร์ ได้ โดยปลาสเตอร์เจียนจะให้ไข่ปลาคาเวียร์สีดำ,ปลาเรนโบว์เทราต์ให้ไข่ปลาคาเวียร์สีแดง ไข่ปลาคาเวียร์ที่ขายมีราคาแพงถึงขีดละ 5,000 บาท การวิจัยปลาสเตอร์เจียนเริ่มขึ้นในปี 2550 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานเงิน 2 แสนบาท เพื่อซื้อไข่ปลาจำนวน 1 กิโลกรัมจากประเทศรัสเซียกรมประมงได้นำไข่มาฟักที่โรงฟักบนดอยอินทนนท์ ได้ลูกปลามาประมาณ9,000 ตัว จากนั้นได้ทดลองเลี้ยงเรื่อยมา เลี้ยงได้ประมาณ 8 ปี จึงได้ไข่ปลาคาเวียร์ และการวิจัยเพาะพันธุ์ได้สำเร็จในปี 2557 ตอนนี้สามารถเพาะพันธุ์ได้เองแล้ว ถือว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนได้เพราะต้องเลี้ยงในพื้นที่สูง น้ำที่ใช้เลี้ยงต้องเย็นมีอุณหภูมิไม่เกิน 20 ํC สำหรับที่นี่มีการผันน้ำจากน้ำตกสิริภูมิทำให้น้ำที่ไหลผ่านสะอาดและมีความเย็นตลอดเวลา

คุณแซนดี้บอกว่าช่วงนี้ใกล้ช่วงของการเปิดบ่อ ที่นี่เปิดบ่อปีละ 2ครั้ง หลังจากเอาปลาขึ้นจากบ่อจะไปน็อคด้วยน้ำแข็ง แล้วแช่เย็นไว้ส่วนใหญ่จะส่งให้ sizzler ปีละประมาณ 5,000 ตัว แต่น่าเสียดายวันที่เราไปฝนตกหนัก น้ำในบ่อขุ่นมากมองไม่เห็นปลาเลย ได้แต่เดินวนเวียนไปมารอบๆ และได้เห็นบ่อเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์รุ่นแรกที่ได้ทดลองเลี้ยงที่นี่ สร้างตั้งแต่ปี 2516

นอกจากนี้ยังมี ซาลาแมนเดอร์อินทนนท์ พบที่ดอยอินทนนท์นี่เอง จะอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สูง 1,200 – 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำ
ทะเล จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ สัตว์ชนิดนี้ช่วยในการรักษาสมดุลของธรรมชาติ จึงทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ได้ทำการศึกษาการเพาะพันธุ์และอนุบาลจนสำเร็จ ได้ลูกซาลาแมนเดอร์จำนวนมากเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติเป็นประจำทุกปี

12 ตุลาคม 2560
ตื่นกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า โชคดีที่อากาศสดใสไม่มีฝนตก หลังจากชื่นชมความงามตอนเช้าจากริมระเบียงหน้าบ้านพักของเราแล้วก็กลับขึ้นไปยังสถานีฯ อินทนนท์เพื่อจะไปดูเรื่องไม้ถุงไม้กระถาง

การผลิตไม้ดอกเป็นไม้กระถุงและไม้กระถาง
คุณแซนดี้พาเราเดินไปที่โรงผลิตไม้ถุงและไม้กระถาง มีอาจารย์ยุ (ยุวดี ด่านอนันต์) นักวิชาการไม้ดอก รอพวกเราอยู่ที่นั่น อาจารย์ยุเล่าว่า….ไม้ตัดดอกของที่นี่เริ่มจากการวิจัย ทดสอบสาธิต และส่งเสริม ที่สถานีวิจัยขุนห้วยแห้ง แรกๆ มีกุหลาบ เยอบีร่า หน้าวัว หลังๆ มามี จิปซอฟฟิลาลิลลี่ ตอนแรกปลูกเพื่อตกแต่งภายในสถานีฯ อินทนนท์ปีหนึ่งๆ ต้องใช้ไม้กระถาง 100,000 กว่าถุง พื้นที่ใน
สถานีฯ ไม่เพียงพอจึงส่งเสริมให้เกษตรกรที่บ้านผาหมอน(กะเหรี่ยง) และบ้านขุนกลางปลูก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น พอเกษตรกรปลูกเยอะขึ้นๆ ก็ขยายการส่งให้กับภายนอก เช่น สวนราชพฤกษ์ ปีๆ หนึ่งจะส่งให้ประมาณ 60,000 ถุง ส่งเพียง 3 เดือน (พ.ย.-ม.ค.)ส่วนช่วงอื่นๆ ก็ปลูกเข้าสถานีฯ อินทนนท์ เพื่อส่งให้งานภูมิทัศน์ นอกจากนี้เกษตรกรก็หาตลาดเอง เช่นส่งตามรีสอร์ทต่างๆ จนปัจจุบันชาวบ้านที่บ้านผาหมอนปลูกกุหลาบมีรายได้ภายในหนึ่งครัวเรือนประมาณ 200,000 บาท/เดือน

การปลูก ทางสถานีจะสั่งซื้อเมล็ดมาจากประเทศอังกฤษ นำมาเพาะในถาดหลุมเล็กๆ ประมาณ1-2 เดือน พอเป็นต้นกล้าเกษตรกรก็ซื้อไปปลูกลงกระถาง

นอกจากนี้ภายในสถานีฯ อินทนนท์ ยังมีโรงเรือนสำหรับเป็นที่ทดสอบสาธิตและ
ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้อีกด้วย

พื้นที่แถบนี้มีความชื้นสูงถึง 70% ทำให้มีปัญหาเรื่องเชื้อรา ต้องให้หมอพืชมาดู ถ้าหมอพืชรักษาไม่ได้ก็จะส่งไปห้องแล็บที่แม่เหียะ ตอนปลูกแรกๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคทั้งๆ ที่ปลูกกลางแจ้งเพราะดินอุดมสมบูรณ์ พอปลูกเยอะๆ ทำให้สารเคมีสะสมในดินหลังๆ มาจึงต้องใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์มาช่วย

การดูแลไม้ดอกต้องใช้ความละเอียด บางตัวชอบแสงรำไร บางตัวชอบแดดจัดบางตัวต้องเปิดไฟเพื่อให้ได้แสงนานขึ้นจึงจะออกดอก บางปีต้องเปิดสปอตไลท์ให้เพื่อปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้น เพราะอากาศหนาวเกินไป ส่วนใหญ่จึงปลูกในโรงเรือนจะได้
ควบคุมได้ง่ายขึ้น ดินที่เอามาปลูกดอกไม้แต่ละชนิดอัตราส่วนก็ไม่เท่ากันช่วงเวลาที่ดอกสวยที่สุด คือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงแม้จะเป็นดอกไม้เมืองหนาวแต่ถ้าอากาศเย็นเกินไปจะเป็นเพียงแค่กระตุ้นให้ออกดอก แต่ดอกก็จะไม่ค่อยสวยการส่งไม้กระถางจะส่งด้วยลังสีม่วง ส่งช่วงเช้าไม่เกินตี 5 ส่งที่ศูนย์ฯ แม่เหียะและร้านโครงการหลวงที่ตลาดคำเที่ยง

***ช่วงที่เรามาเป็นช่วงเวลาที่ทางสถานีฯ อินทนนท์ ต้องจัดเตรียม ดอกเดเลีย เบญจมาศ
โซลิคเอสเตอร์ ทั้งหมด 3,000 กระถาง เพื่อไปตกแต่งพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง


ขอขอบคุณ…
คุณยุวดี ด่านอนันต์ (อ.ยุ) นักวิชาการไม้ดอก
คุณฟองจันทร์ รุกข์อนุรักษ์ (พี่บี) เจ้าหน้าที่คัดบรรจุ
คุณกัญญาณี อภิวงค์ (แซนดี้) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

เรื่องราวและภาพ…
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
ที่อยู่ : บ้านขุนกลาง หมู่ 7 ตำบลบ้านหลวง
อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
โทรศัพท์ : 0 5328 6777 – 8[:]

Posted in เที่ยวไป...รู้ไป..เข้าใจ "พ่อ".